ฟันเฟืองสำคัญ ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก
มาตรการและกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้พยายามหาแนวทางให้คนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ แต่ถึงกระนั้น ในปัจจุบันก็ยังคงต้องพัฒนาองค์ความรู้และปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ทันสถานการณ์โลกที่ดูจะร้อนขึ้นทุกขณะ!
แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยมาตรการและกลไกหลายส่วน การศึกษาและรวบรวมข้อมูลรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศทำให้ได้ “มาตรการและกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก" เพื่อให้เราลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
คาร์บอนมีราคา | มาตรการทางด้านราคา ผ่านภาษีและตลาดคาร์บอน
มาตรการแรกคือการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยผ่านกลไกราคา หรือสร้างต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ซึ่งรวมไปกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และภาษีรถยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ทั้งนี้ ประเทศไทยอาจดำเนินการโดยเก็บภาษีจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่าง ๆ หากใช้คาร์บอนจำนวนมากในการผลิตและปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ ก็ต้องจ่ายราคาต่อหน่วย รวมไปถึงการเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดโดยตรงตามค่ามาตรฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนากฎหมายและเครื่องมือตรวจวัด รวมถึงมาตรการเตรียมความพร้อมและเงินอุดหนุน/ลดภาษีจากรัฐบาล
ส่วน “มาตรการตลาดคาร์บอน” นั้น จะเกิดได้จากความร่วมมือกันโดยสมัครใจของผู้ประกอบการในภาคเอกชน ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะกำหนดเป้าหมายกันเอง มีเกณฑ์ตั้งราคาขายคาร์บอนเครดิตให้สูงกว่าต้นทุนดำเนินการทั้งหมด โดยไทยเรามีทั้งการซื้อและขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานในประเทศ หรือ T-VER และการซื้อขายใบอนุญาตในระดับพื้นที่อุตสาหกรรม/องค์กร หรือ Thai-VETS รวมถึงยังมีโอกาสเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนในต่างประเทศอีกด้วย สำหรับตลาดคาร์บอนภาคบังคับยังไม่มีการดำเนินการในประเทศไทย
คาร์บอนมีข้อจำกัด | มาตรการควบคุมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน
มาตรการที่สำคัญต่อมา เป็นการกำหนดและจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งควบคุมทางอ้อมผ่านระบบบริหารจัดการด้านความต้องการ โดยส่งเสริม “การอนุรักษ์พลังงาน” เช่น มีกฎหมายการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานในโรงงานหรืออาคาร และมาตรฐานประหยัดไฟฟ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมไปถึง การขับเคลื่อนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่นและเมือง นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low carbon society) โดยใช้โครงการส่งเสริมการจัดทำ “คาร์บอนฟุตพริ้นต์” ขององค์กรเป็นแนวทางการคำนวณและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ โดยชุมชนเอง เช่น การจัดโครงการประกวดเทศบาลไทย ใส่ใจลดโลกร้อน ซึ่งมีเทศบาลนำร่องกว่า 27 องค์กรทั่วประเทศ เป็นต้น
คาร์บอนยิ่งต่ำ ยิ่งมีคนซื้อ | มาตรการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
นอกจากมาตรการด้านราคาและปริมาณแล้ว ยังมีมาตรการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย นั่นคือ “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์” ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานสากล ISO 14067 ใน ค.ศ.2013 โดยฉลากนี้แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลักคิดการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) รวมถึงการติด “ฉลากลดคาร์บอน” เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่ามีส่วนร่วมในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น มาตรการนี้ช่วยให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมีทางเลือกเพื่อช่วยลดโลกร้อนด้วยกัน
คาร์บอนมีที่กักเก็บ | มาตรการสนับสนุนการปลูกป่า
มาตรการสุดท้าย เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกักเก็บและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้จัดตั้งโครงการ “ธนาคารต้นไม้” เพื่อให้เกษตรกรใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์/ประกันและใช้หนี้ได้ รวมถึงแนวคิด “พันธบัตรป่าไม้” ซึ่งทำให้ป่าไม้สร้างผลตอบแทนเป็นเงิน ทั้งยังช่วยให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และทำให้ระบบนิเวศของป่าดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้จูงใจผู้ซื้อพันธบัตรด้วย
มาตรการและกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดข้างต้น มุ่งเน้นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นก๊าซเรือน
อ้างอิง : อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์, 2559: มาตรการและกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก. ใน: รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2: องค์ความรู้ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก. คณะทำงาน กลุ่มที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [อำนาจ ชิดไธสง, ปริเวท วรรณโกวิท, มัทนพรรณ จิ๋วเจียม, อัศมน ลิ่มสกุล, ศุภกร ชินวรรโณ และชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (บรรณาธิการ)]
Photo by The Nation