โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2553 02:27 น.
บรรดาผู้นำชาติยากจนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเผชิญสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระหว่างการประชุม COP-16 (ซ้ายไปขวา) ลอร์ดนิโคลาส สเติร์น ผู้เขียนสเติร์นรีพอร์ต เป็นผู้ดำเนินรายการ, จอห์นสัน โตรีบีออง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา, เมเลส เซนาวี นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย, เฟลีเป กัลเดรอน ประธานาธิบดีเม็กซิโก, ทิลแมน โทมัส นายกรัฐมนตรีประเทศเกรเนดา, ปอร์ฟีรีโอ โลโบ ประธานาธิบดีฮอนดูรัส (ภาพในจอใหญ่ซ้ายมือ), และฌอง แปง ประธานสหภาพแอฟริกา (AFP)
สัญญลักษณ์การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 16 (COP 16)
การประชุมเพื่อหาหนทางบรรเทาภาวะสภาพภูมิอากาศผันผวน จบลงพร้อมความประนีประนอม จึงได้เพียง "ข้อตกลงแคนคูน" คล้ายกับ "โคเปนเฮเกนแอคคอร์ด" เห็นพ้องตั้งกองทุน "กรีน ไคลเมท ฟันด์" ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา แต่ยอมรับอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ส่วนอนาคต "พิธีสารเกียวโต" ยังไร้ความคืบหน้า
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 16 (COP 16) ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. - 10 ธ.ค.53 ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกจบลงด้วยความคืบหน้าเพิ่มเติมจากข้อตกลง "โคเปนเฮเกนแอคคอร์ด" (Copenhagen Accord) โดยเกิดข้อเห็นพ้องใหม่ในการร่วมรับมือกับปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
"ข้อตกลงแคนคูน" (Cancun Agreements) เป็นแนวทางจากการประชุม COP 16 ครั้งนี้ ที่ได้รับการรับรองจากกว่า 190 ประเทศ เพื่อจัดเวทีต่อเนื่องในการหาข้อตกลงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศ ที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา รวมทั้งการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าลง
"มันคือโครงร่างจากปีที่แล้ว ที่ไม่ได้รับการรับรอง แต่ขณะนี้ที่ประชุมรับรอง และยังมีการบรรจุรายละะเอียดเพิ่มเติม" ทอดด์ สเติร์น (Todd Stern) นักต่อรองทางด้านสิ่งแวดล้อม จากสหรัฐอเมริกาอธิบาย อีกทั้งเขาเห็นว่า ที่จริงแล้วข้อตกลงเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ก็ถือว่ายังดีที่มีความคืบหน้า
ข้อความที่บรรจุลงในข้อตกลงฉับใหม่ ก็เพื่อเป็นพิมพ์เขียวสำหรับสนธิสัญญาในอนาคต ที่จะนำมาใช้แทนที่พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1997 โดยประเทศที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่างสนับสนุนให้ใช้พิธีสารเกียวโต เว้นแต่สหรัฐฯ ที่ไม่เคยลงนามในพิธีสารฉบับนี้
(พิธีสารเกียวโตมีเงื่อนไขให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าปี 1990 เฉลี่ย 5.2% ภายในปี 2008-2012 ประเทศเหล่านั้น อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และรัสเซีย) ส่วน ข้อตกลงฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นในแคนคูนนี้ มีต้นแบบจากโคเปนเฮเกนแอคคอร์ด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศยักษ์ใหญ่ รวมถึงตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอย่าง จีนและสหรัฐฯ