ชาวนาหันมาปลูก "แฟง" พืชใช้น้ำน้อยช่วงฤดูแล้ง
ที่จังหวัดพิษณุโลก หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรหลายราย ต้องปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยที่ ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรส่วนใหญ่ ทำนาข้าวได้ปีละ 1 ครั้ง และในช่วงฤดูแล้ง ก็จะหันมาปลูกพืชชนิดอื่น ทดแทน การทำนา
นายสมโภช แก้วอินทิน อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 153 หมู่ 22 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนเองมีนาข้าวจำนวน 14 ไร่ แต่ในช่วงฤดูแล้ง ไม่มีน้ำ ทุกปีก็จะหันมาปลูกข้าวโพด แต่ว่าในปีนี้น้ำในสระที่มีอยู่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา จึงหันมาปลูกแฟง พืชใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้นทดแทน โดยนายสมโภช กล่าวว่า แบ่งที่นา 2 ไร่ ทำเป็นแปลง ปลูกผลแฟง พืชทนแล้ง รดน้ำเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพียง 2 เดือน ก็สามารถเก็บผลขายได้ ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตประมาณ 3-4 ตัน ต่อครั้ง ซึ่งก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งไปขายแต่อย่างใด นับว่าเป็นการสร้างรายได้ทดแทนการทำนาในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประกาศเตือนเกษตรกรชาวนา โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก และแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูก งดทำนาปรัง หันมาปลูกพืชทนแล้งทดแทนการทำนา
Credit เนื้อหา : http://www.phitsanulokhotnews.com/2013/01/19/30804