การพัฒนาการปลูกข้าวพื้นบ้านในพื้นที่นาหลังน้ำท่วม ชุมชนท่าช้าง
ชุมชนบ้านท่าช้างตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ริมคลองปากประ ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำท่าที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด ก่อนที่น้ำเหล่านี้จะไหลลงทะเลสาปน้อย (ทะเลสาปสงขลาตอนบน) ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร จากพื้นที่เกษตรทั้งหมด 4,175 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนา 3,175 ไร่ และที่เหลือ 1,000 ไร่เป็นสวนยางพารา ชาวบ้านบางคนมีอาชีพปลูกพริก (สด) ขาย นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีการทำหัตถกรรมจากหญ้ากระจูด ซึ่งหาได้จากพื้นที่ชุ่มน้ำรอบๆ ชุมชน ชาวบ้านในชุมชนมี 232 ครัวเรือน ประชากร 788 คน
ในอดีตจะมีน้ำหลากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม (น้ำหลากสูงประมาณ 1 เมตร นานประมาณ 30 – 45 วัน) และในทุก 5 – 7 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ (น้ำลึก 1 - 2 เมตร และนานประมาณ 60 – 90 วัน) ซึ่งชาวบ้านจะเริ่มทำนาปลูกข้าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งน้ำที่หลากมาไม่ได้มีผล กระทบต่อนาข้าวมากนัก เพราะต้นข้าวเติบโต จนสามารถทนต่อน้ำหลากได้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้งเกือบทุกปี ทำให้ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาใหม่ เป็นการปลูกข้าวปีอายุสั้น (พันธุ์ปรับปรุงที่ราชการส่งเสริม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525) ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน/พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม และอาจปลูกข้าวนาปรังอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายน ซึ่งจะไปเก็บเกี่ยวในดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม
กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อ "วิชาลัยรวงข้าว" ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชาวนาทางเลือกพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ โดยมีภาคีความร่วมมืออื่นๆ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง โรงเรียนบ้านท่าช้าง วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ปัจจุบัน กลุ่มมีสมาชิก 60 ครอบครัว และมีนายอำมร สุขวัน เป็นประธาน
โครงการนี้เป็นการศึกษาทดลองเพื่อหาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีอายุสั้นและมีความเหมาะสมในการเพาะปลูก ภายใต้สภาพเงื่อนไขของชุมชน เพื่อปลูกในพื้นที่นาหลังน้ำท่วม โดยวางแผนว่าจะมีอาสาสมัครชาวนาไม่น้อยกว่า 20 คน ที่มาร่วมทดลองในแปลงนารวม ประมาณ 20 ไร่ โดยทางกลุ่มวางแผนที่จะทดสอบพันธุ์ข้าว 10 สายพันธุ์ คือ สังข์หยด เฉี้ยง เล็บนก ช่อจังหวัด เหนียวดำ หัวนา นางกราย ไข่มดริ้น อุเด็น และหน่วยเขือ
Credit เนื้อหา : http://www.greennet.or.th/article/1027#sub-1026
Credit รูปภาพ : http://www.collectadd.com/article