ผลกระทบและการปรับตัวของอาเซียน

Friday, 07 March 2014 Read 24480 times Written by 

A017-1

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ผลกระทบและการปรับตัวของอาเซียน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเป็นปรากฏการณ์จากภาวะโลกร้อน มีสาเหตุจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องมานับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและทวีจำนวนมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าจะหยุดยั้งลงได้อย่างไร ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตลดการบริโภคพลังงานฟอสซิลลงได้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้กลไกระเบียบโลกที่มีอยู่ตามข้อตกลงนานาชาติ เพื่อที่จะควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งข้อตกลงที่สำคัญ ได้แก่ พิธีสารเกียวโตก็เพียงแต่มีผลในการชะลอภาวะโลกร้อนออกไปได้บ้างเท่านั้นยังไม่มีวี่แววว่าจะบรรลุผลได้ตามเป้าหมาย

     ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของอาเซียนเพราะผลกระทบที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เกษตรกรรม ความมั่นคงและเศรษฐกิจ นอกเหนือไปที่ทำให้คนจนต้องจนลงไปอีก โลกร้อนทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคกว้างขึ้นกว่าเดิม และนั่นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558

     กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร และ ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์ จัดทำแผนที่ 4 องศาเซลเซียสแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ เพื่อแสดงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นบนโลก หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส เกินค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยเน้นเจาะลึกถึงความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1)

ในฐานะที่อาเซียนเป็นแหล่งผลิตอาหารระดับครัวโลก ถ้าหากอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 4 องศา จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูก การประมง แหล่งน้ำและการใช้ชีวิตของชาวอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน รวมถึงพายุฤดูร้อน พายุไซโคลนและไต้ฝุ่น ที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกพายุพัดกระหน่ำแบบทั่วถึงทั้งเกาะตลอดปี แถมด้วยปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" และ "ลานิญ่า" ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของพายุหลงฤดู ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงไปตามสภาพอากาศที่ปรวนแปร ส่งผลให้บางประเทศมีฝนตกชุกและพายุเข้า ขณะที่อีกประเทศแทบจะไม่มีฝนและร้อนแห้งแล้ง กลายเป็นภาวะน้ำท่วมน้ำขาดแบบไม่รู้จบ ผลลัพธ์ที่ตามมาติดๆ เมื่ออุณหภูมิโซนอาเซียนพุ่งสูงขึ้นก็คือข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิของ "น้ำ" ซึ่งร้อนขึ้น ประกอบกับความเป็นไปได้ของอุณหภูมิโดยรวมที่จะสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนและปลายฝน ทำให้ผลผลิตแห้งตายและไม่เพียงพอต่อการบริโภค

     นั่นยังไม่รวมถึงปัญหาขาดแคลน "ที่ทำกิน" เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มบางส่วนมีโอกาสถูกน้ำท่วมจนมิด ตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ถ้าดูจาก "แผนที่ 4 องศา" จะพบว่า ในปี 2654 จะกลายสภาพเป็นเมืองบาดาล เพราะถูกน้ำทะเลซึ่งสูงขึ้นราว 65 เซนติเมตร ไหลเข้าท่วมทั่วทั้งกรุงที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร เช่นเดียวกับชะตากรรมของกรุงมะนิลา จาการ์ตา โฮจิมินห์ซิตี้และชายฝั่งติดทะเลของสิงคโปร์

     ขณะที่ผลกระทบด้าน "การประมง" ก็มีปัญหาไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะน้ำทะเล น้ำจืดและน้ำกร่อย ต่างก็มีจุดเดือดและความเป็นกรดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สัตว์น้ำและพืช ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลง ส่อเค้าล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นวงกว้าง กลายเป็นวิกฤตล้มละลายของการประมง ซึ่งยากจะแก้ให้กลับมาเหมือนเดิม

     นอกจากนี้ สุขภาพของมนุษย์ก็จะย่ำแย่ลง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมีผลต่อคุณภาพของอากาศ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ จาการ์ตาและมะนิลา ที่มีมลพิษมากอยู่แล้ว จะยิ่งเข้าขั้นอันตรายจนมนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อีก สภาพอากาศร้อนผิดธรรมชาติ ยังเป็นต้นเหตุก่อโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งลมแดด ความเครียด ระบบไหลเวียนเลือดบกพร่องและโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ เนื่องจากความร้อนเอื้อประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ของแมลง ทำให้โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกมีโอกาสแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค

     สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อการปลูกข้าวในไทยเมื่อมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่องความแห้งแล้ง หากไม่มีมาตรการปรับตัวใดๆ รองรับ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวช่วงเพาะปลูกนั้น ต้นข้าวค่อนข้างเปราะบางต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ผลผลิตข้าวอาจจะไม่เติบโต หากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 35 องศาเซลเซียสในช่วงข้าวออกรวง ทำให้ผลผลิตลดลง การที่ผลผลิตข้าวลดปริมาณลงอย่างมากนอกจากการบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลกได้

     ปัญหาโลกร้อนจะทำให้เป้าหมายของอาเซียนที่จะนำพาภูมิภาคให้พ้นจากความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ยากมาก เราจึงต้องแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แม้ว่าจะมีความยากลำบากและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในทันที แต่การเจรจาของสหประชาชาติและพิธีสารเกียวโตก็เป็นแนวทางระหว่างประเทศเพียงแนวทางหนึ่งเดียวในขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมทั้งโลก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันกระบวนการนี้ต่อไป เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหาขนาดใหญ่อย่างนี้ได้ด้วยการกระทำในระดับรัฐหรือปัจเจกเท่านั้น

 การประชุมโลกร้อนที่แคนคูน ประเทศเม็กซิโก ปี พ.ศ.2553 แม้ว่าอาเซียนจะแสดงจุดยืนร่วมกันต่อกรณีการเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี พ.ศ.2563 แต่ผลการประชุมที่เมืองแคนคูนยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในปริมาณดังกล่าว รวมถึงขาดการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละประเทศที่จะมีส่วนร่วมในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้ร้อนเกิน 2 องศา ตามที่เคยกำหนดไว้ในพิธีสารเกียวโตซึ่งจะหมดอายุลงในปี พ.ศ.2555

     สรุปประเด็นสำคัญที่อาเซียนจะต้องตระหนักคือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเนื่องจากภาวะโลกร้อนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงพ้นได้ การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอาจผิดแผกแตกต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและพบเห็นในปัจจุบัน อาเซียนต้องเตรียมตัวให้สามารถอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์ในอนาคต หรือมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงได้มากขึ้น การคิดถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยเน้นประเด็นเรื่องลดโลกร้อนนั้น แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีและควรช่วยกันทำแต่ก็ไม่อาจเพียงพอต่อการแก้ปัญหา การช่วยกันคนละเล็กละน้อย (ถือถุงผ้า-ดับไฟ) นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ เราต้องปรับทัศนคติสังคมโดยต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน ปรับวิถีชีวิต ปรับยุทธศาสตร์ประเทศ ชุมชน และธุรกิจ ให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น หรือมีขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา :

    (1) จากเว็บไซต์ของสถานทูตอังกฤษ http://ukinthailand.fco.gov.uk/en/news/?view=PressR&id=723765782
    http://www.tgo.or.th/images/stories/Article/4Degree/four_degree_map.pdf
    http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=3127
    http://www.greenpeace.org/seasia/th/photosvideos/photos/-41-516/
    http://poleshift.ning.com/profiles/blogs/thailand-land-subsidence-23-provinces-in-the-gulf-of-thailand
    สำนักข่าว AP Photo/Gurinder Osan

Credit : http://envinat-ac.aseangreenhub.in.th/index.php/th/geographysection/8-environment

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank