หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์แผนปฏิบัติการในการทดสอบการระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ในแง่ของความเหมาะสม และความจำเป็น
นักวิชาการด้านภัยพิบัติหลายคน มีความคิดเห็นตรงกันว่า แผนการระบายน้ำ อาจไม่มีความจำเป็นมากพอที่จะดำเนินการทดสอบ เพราะสามารถคาดการณ์ได้ด้วยวิธีอื่น ขณะที่ฝ่ายดำเนินการก็ยืนยันว่า เพื่อความชัดเจนและการเตรียมตั้งรับปริมาณน้ำ รวมไปถึงความพร้อมของคูคลอง และท่อระบายน้ำ จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนหลังจากมีการทดสอบ
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ. กล่าวถึงแผนการทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 และ 7 กันยายนวานนี้ (30 ส.ค.) ว่า หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมในจุดที่น้ำท่วมขัง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ จึงควรมีการทดสอบประสิทธิภาพการระบายที่แท้จริงในเส้นทางระบายน้ำที่เคยมีปัญหา
ขณะที่นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. กล่าวว่า การทดสอบจะใช้ปริมาณน้ำแค่ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 30 เพื่อเป็นแบบจำลองว่า หากปริมาณน้ำเท่านี้ จะระบายน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะไม่กระทบกับชาวบ้านเลย
ส่วนการทดสอบการระบายน้ำ ในวันที่ 5 กันยายน จะทำการทดสอบในพื้นที่ตะวันตก และใช้คลองทวีวัฒนาเป็นหลัก ไหลไปตามคลองภาษีเจริญ 2 ฝั่ง คือ ฝั่งหนึ่งน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และอีกฝั่งหนึ่งไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะไหลลงคลองราชมนตรี คลองท่าข้าม และออกที่คลองมหาชัย ด้วยความเร็วในการระบายที่ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระหว่างคลองทวีวัฒนาเชื่อมกับคลองภาษีเจริญ จะมีคลองที่เป็นทางแยก เช่น คลองบางไผ่ คลองบางแวก คลองบางจาก และวันที่ 7 กันยายน จะทำการทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก โดยใช้คลองลาดพร้าวเป็นหลัก ซึ่งเป็นคลองหนึ่งที่ไม่สามารถระบายน้ำได้เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วม กทม. สำหรับการทดสอบที่คลองลาดพร้าว จะใช้ความเร็วในการระบายน้ำที่ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านไปยังบึงพระราม 9 และสิ้นสุดที่อุโมงค์ผันน้ำ
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธาน กยน. กล่าวว่า อาจไม่มีความจำเป็นมากพอ เพราะแม้จะอ้างว่า เพื่อทดสอบการระบายน้ำหลังขุดลอกคูคลอง แต่ในความเป็นจริงคือ แม้จะขุดลอกคูคลองแล้ว แต่การระบายน้ำจะทำได้ไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะโดยพื้นที่แล้วส่วนใหญ่ทำได้เพียงการกำจัดวัชพืชและลดความตื้นเขิน แต่ไม่สามารถขยายคูคลองให้กว้างขึ้นได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางพื้นที่ นอกจากนี้พื้นที่ของ กทม.ยังมีภูมิศาสตร์ในลักษณะแอ่งกะทะ ที่จะส่งผลให้การระบายน้ำทำได้ตามสภาพพื้นที่เท่านั้น
ขอขอบคุณ http://news.thaipbs.or.th