หลายพื้นที่ทางภาคเหนือยังคงเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกให้ความรู้กับชาวจังหวัดพิจิตร พร้อมติดตั้งเครื่องเตือนภัยผ่านระบบ SMS
เจ้าหน้าที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ร่วมให้ความรู้กับประชาชนในจ.พิจิตร เรื่องการติดตั้งเครื่องเตือนภัยระบบอัตโนมัติ หากมีปริมาณน้ำฝนเกินที่กำหนด จะแจ้งเตือนด้วยระบบ SMS ให้กับผู้นำชุมชน เพื่อเร่งเตือนภัยชาวบ้าน โดยจ.พิจิตรเป็นจังหวัดที่ 2 ต่อจากเชียงใหม่ ในการนำร่องด้วยระบบดังกล่าว โดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติให้กับประชาชนได้
ส่วนที่จ.พิษณุโลก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ยังคงเร่งขุดลอกคลองหนองอำปรือ ในต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ให้กว้างและลึกมากขึ้น ก่อนที่น้ำเหนือจะไหลหลากลงมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ที่มักเกิดซ้ำซากทุกปี เช่นเดียวกับจ.กาฬสินธุ์ ที่ทางจังหวัดได้ให้ความรู้ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอ.ฆ้องชัย เตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุดหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่
ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง ยังคงส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของจ.นครราชสีมา โดย นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจ.นครราชสีมา ยอมรับว่า ภาวะฝนทิ้งช่วงรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรและนาข้าวได้รับผลกระทบแล้วกว่า 2 ล้านไร่ และหากยังไม่มีฝนตกในช่วงปลายเดือนนี้ คาดว่านาข้าวจะได้รับความเสียหายทันทีกว่า 1 ล้านไร่
นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ก็เริ่มไม่มั่นใจ หลังบ้านของนายมานิต เงินทอง ในต.บ้านเนิน เกิดดินสไลด์เสียหายทั้งหลัง เนื่องจากปีนี้น้ำในแม่น้ำเชียรใหญ่ ลดลงปริมาณมาก ส่งผลให้ดินที่เคยถูกน้ำกัดเซาะเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตรเริ่มทรุดตัว ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ
ขอขอบคุณ http://news.thaipbs.or.th