หลายพื้นที่ยังเร่งวางมาตรการรับมือน้ำท่วม ส่วนฝนที่ยังคงตกหนักทำให้บางหมู่บ้านในเขตภาคเหนือ ยังถูกน้ำท่วมขัง
ชาวบ้านปากคลองหมู่ที่ 11 ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ต้องใช้เรือในการสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ถูกน้ำจากทุ่งกำแพงเพชร และ ฝนที่ตกหนักไหลเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 20 หลัง สูงกว่า 50 เซนติเมตร ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่านครสวรรค์ เร่งรัดผู้รับเหมาให้เร่งตอกเสาเข็ม และ ก่อสร้างแนวกั้นน้ำกว่า 500 เมตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าเทศบาลตำบลพยุหะคีรี อำเภอพยุหะคีรี หลังปีที่แล้ว บริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วม และ เซาะตลิ่งเสียหาย
เช่นเดียวกับจังหวัดพิษณุโลกเจ้าหน้าที่ยังคงเร่งขุดลอกบึงสะเดา ตำบลหนองพระ อำเภอวังทอง ตามโครงการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมทางด้านตะวันออกของเมืองพิษณุโลก โดยจะทำการขุดพื้นที่ประมาณ 230 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 300,000 ล้านลูกบาศก์เมตรหากแล้วเสร็จ จะบรรเทาน้ำท่วมขังในเขตอำเภอวังทอง และช่วยลดปริมาณน้ำท่วม ที่ต้องระบายลงสู่แม่น้ำน่าน
ขณะที่ชาวบ้านใหม่หมู่ที่ 5 และบ้านปอน หมู่ 6 ตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปํญหาท่อระบายน้ำทางเข้าหมู่บ้านที่มีขนาดเล็ก ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน เมื่อมีฝนตกหนัก ที่ผ่านมาเคยขอความช่วยเหลือไปแล้วหลายครั้งแต่ไม่มีความคืบหน้า
ขณะที่ทหารจากกองกำลังนเรศวรได้นำกำลังช่วยเหลือบ้านกือมาแนะ ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ทำฝายกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมไร่นาในช่วงหน้าฝน พร้อมสั่งเตรียมกำลังผลให้ส่วนหนึ่ง ไว้ช่วยเหลือประชาชนหากเกิดเหตุน้ำป่า และดินโคลนถล่ม ส่วนที่จังหวัดศรีสะเกษเจ้าหน้าที่เขื่อนราษีไศล ต้องยกบานประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน เพื่อพร่องน้ำในเขื่อน เตรียมรับน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมาที่จะไหลมาสมทบ เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และพื้นที่การเกษตร
ขณะเดียวกันภาวะฝนทิ้งช่วงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ต้นข้าวในตำบลนามะเฟือง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู เริ่มแห้งตายเพราะขาดน้ำ ขณะที่บางส่วนถูกโรคระบาดและวัชพืชกัดกินทำให้ต้นข้าวเสียหาย
เช่นเดียวกับชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานีที่ต้องไถกลบต้นข้าวที่แห้งตายเพราะขาดน้ำ เพื่อเตรียมเริ่มปักดำใหม่ ชาวนาบอกว่าต้นข้าวเริ่มขาดแคลนน้ำตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ต้นข้าวไม่เจริญเติบโต ขณะที่ชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า พื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่นอกเขต ชลประทาน ระยะนี้มีฝนตกลงมาบ้างแต่ไม่มากเท่ากับทุกปี
ขอขอบคุณ http://news.thaipbs.or.th