โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้จัดสัมมนาเรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริหารจัดการน้ำ” โดย ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หัวใจของการปฏิบัติ คือเมื่อมีข้อมูลแล้วจะสามารถนำมาสู่การปฏิบัติได้อย่างไร จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาข้อมูลทำให้สามารถนำไปสู่การคาดการณ์ การจัดการและใช้เป็นเครื่องมือปฏิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลมีความสำคัญเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในส่วนของพื้นที่ซ้อนระหว่างพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่น้ำแล้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ฉะนั้นการบริหารจัดการต้องทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรของไทยกว่าร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างโครงสร้างน้ำในพื้นที่ได้ โดยอยากเสนอให้พัฒนาคนในท้องถิ่น ให้มีพี่เลี้ยงคอยจัดการและให้ข้อมูล เพราะหากไม่มีข้อมูลจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ด้านน.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า เหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาในส่วนของข้อมูลสารสนเทศนั้นมีอยู่จำนวนมาก แต่การเผยแพร่สู่ประชาชนนั้นกลับไม่ครบถ้วนและทั่วถึง เป็นผลทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งรัฐบาลเองได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้ปรับแนวการทำงานของทุกหน่วยงานให้ชัดเจนโดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ GIN เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้เป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ คลังสารสนเทศและภัยพิบัติ และคลังข้อมูลสาธารณภัยแล้วเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนแบบง่าย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทุกอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์เสร็จสิ้นภายในเดือนพ.ค.นี้
“ในสถานการณ์ปกติ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ข้อมูลข่าวสารตามปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ภาวะเตือนภัยให้ทุกหน่วยงานหยุดให้ข้อมูลข่าวสาร และให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นผู้ทำหน้าที่เตือน ภายใต้การสั่งการของคณะกรรมการบริหารการจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมด”น.อ.สมศักดิ์ กล่าว.
ขอขอบคุณ http://www.dailynews.co.th