วิกฤตน้ำท่วมขยายวงส่งผลกระทบพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 15 แห่ง
นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ระดับแม่น้ำเจ้าพระยา (7 ต.ค.) วัดได้ที่ 1.97 เมตร ยังถือว่าพอรับมือไหว แต่หากระดับน้ำสูงเกินจากแนวคันกั้นน้ำที่ กทม.สร้างไว้สูง 2.50 เมตร บวกกับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนสูง กทม.ก็จะเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมในเขตรอบนอกทั้งฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะทำเลริมเจ้าพระยาประมาณ 28 ตร.ก.ม. ซึ่งมีบ้านพักอาศัย 80,000 หลังคาเรือน ส่วนฝั่งตะวันออกในพื้นที่ 300 ตร.ก.ม.น่าห่วงสุด เพราะเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ มี 4 เขต คือคลองสามวา หนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง ซึ่งมีคนอาศัยอยู่หลายหมื่นครัวเรือนเช่นกัน
สำหรับพื้นที่ชั้นใน กทม.จากการสำรวจพบว่า มี 15 พื้นที่เป็นจุดอ่อนและเสี่ยงต่อน้ำท่วม ได้แก่
1)เขตสาทร ย่านถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์
2)เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ
3)เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล
4)เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และ 49
5)เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์
6)เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง
7)เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน
8)เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว
9)เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี
10)เขตราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน
11)เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน
12)เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง)
13)เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ
14)เขตประเวศ ถนน ศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง และ
15)เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช
"ทั้ง 15 จุดนี้ถ้า 3 น้ำมาพร้อมกัน ทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ก็เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมได้ เพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ง่ายต่อน้ำท่วมขัง"
นายสัญญากล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.เตรียมรับมือเต็มที่ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ช.ม. ล่าสุดซื้อกระสอบทรายเพิ่มอีก 1.5 ล้านถุง เพราะทุกเขตขอเข้ามา
นอกจากนี้ยังได้ขุดลอกคลองให้ระบายน้ำได้เร็วขึ้น ดูแลประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ รวมถึงประสานงานกับกรมชลประทานช่วยบริหารจัดการน้ำผ่านคลองและอุโมงค์ลงสู่ทะเล
"ถ้าน้ำมามากเกิน คนกรุงต้องยอมรับสภาพ ซึ่งปริมาณน้ำฝน กทม.รับมือได้เต็มที่ 1,500-1,600 ลบ.เมตรต่อวินาที ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยารับได้ 3,000-3,500 ลบ.เมตรต่อวินาที" นายสัญญากล่าว
ขอขอบคุณ http://www.matichon.co.th