ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยยืนยันที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065
หากดูกรอบระยะเวลาที่ประเทศไทยประกาศไว้ดูเหมือนจะเป็นระยะเวลาอีกนาน แต่การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศหลายส่วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะใช้เวลาและใช้แรงผลักดันจำนวนมากเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเป็นประเด็นที่ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกประเทศจะต้องผนึกกำลังกัน เพื่อวางเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในทิศทางเดียวกัน และประเทศไทยกำลังเข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว
สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการหลังจากมีเป้าหมายของประเทศที่ชัดเจนแล้ว คือ การกำหนดแผนปฏิบัติการหรือแอ็กชันแพลน รวมถึงการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งภาคการผลิตถือเป็นกลุ่มแรกที่เป็นเป้าหมายของการลดการปล่อยคาร์บอน
โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่ถูกระบุว่ามีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงเมื่อเทียบกับภาคการผลิต และหลังจากนี้แรงจูงใจหรือมาตรการสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาครัฐจำเป็นต้องมีมากขึ้น
ภาคธุรกิจหลายรายเริ่มเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะเมื่อเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเวทีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) รวมถึงเวทีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และจำเป็นที่ผู้ผลิตสินค้าจะต้องให้ความสำคัญกับเทรนด์ดังกล่าว
เมื่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมถูกยกขึ้นมามากขึ้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องขยับไปพร้อมกัน โดยถึงเวลาที่ผู้ประกอบการจะต้องมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้มากขึ้น แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องดำเนินการไปทั้งซัพพลายเชน ซึ่งจะเปลี่ยนเฉพาะบริษัทใหญ่คงไม่เกิดผล ดังนั้นจึงต้องกำหนดแนวทางที่จะผลักดันให้ทุกฝ่ายขยับไปให้ได้พร้อมกัน