ปัตตานี 10 ม.ค. – จ.ปัตตานี ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 8 อำเภอ และประกาศพื้นที่เฝ้าระวังทั้ง 12 อำเภอ เนื่องจากมวลน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ทั้งแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี มีปริมาณมาก ชาวบ้านเดือดร้อน 35 ตำบล 131 หมู่บ้าน 9 ชุมชน 10,508 ครัวเรือน
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยังคงน่าเป็นห่วง นอกจากต้องเผชิญกับน้ำที่ถูกปล่อยลงมาจากเขื่อนบางลาง จ.ยะลา แล้ว ยังต้องเผชิญกับฝนตกหนักในพื้นที่ และน้ำทะเลหนุน ส่งผลระดับน้ำในพื้นที่สูงขึ้นและขยายวงกว้าง ล่าสุดทางจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเป็น 8 อำเภอแล้ว ประกอบด้วย อ.เมือง อ.หนองจิก อ.ยะรัง อ.แม่ลาน อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ และ อ.ทุ่งยางแดง และประกาศพื้นที่เฝ้าระวังทั้ง 12 อำเภอของ จ.ปัตตานี เนื่องจากมวลน้ำได้ไหลลงมาสู่แม่น้ำทั้ง 2 สาย ทั้งแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี มีปริมาณมาก และไม่มีทีถ้าว่าจะลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปัตตานี สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (10 ม.ค.) น้ำยังคงขยายเข้าท่วมถนนสายต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางเทศบาลเมืองปัตตานีประกาศปิดเส้นทางไปแล้ว 2 เส้นทาง เนื่องจากน้ำท่วมสูง ได้แก่ ถนนพิพิธ และถนนปรีดา ห้ามรถทุกชนิดผ่าน นอกจากนี้ ถนนทางเข้าเมือง และถนนสายต่างๆ ระดับน้ำก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ขณะที่การค้นหาชาวบ้านที่พลัดตกแม่น้ำปัตตานี บริเวณเชิงสะพานเฉลิมพระเกียรติ จะบังติกอ ถ.โรงอ่าง ต.สะบารัง จำนวน 3 ราย สามารถช่วยเหลือได้ 2 ราย และยังหายอีก 1 ราย ทราบชื่อ นายอิรฟาน ยะโก๊ะ อายุ 18 ปี ล่าสุดวันนี้ นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี ได้นั่งเรือตรวจการณ์ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาปัตตานี เร่งค้นหาร่างนายอิรฟาน ตั่งแต่ท่าเรือ หน้าศาลหลักเมือง ล่องเรือในแม่น้ำปัตตานี กระทั่งถึงปากอ่าวปัตตานี รวมระยางทางกว่า 3 กิโลเมตร แต่ไม่พบร่างของนายอิรฟาน
นายกาส เส็นโต๊ะเย็บ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงสาเหตุ จ.ปัตตานี เกิดน้ำท่วมสูงในหลายจุด และเส้นทางการเดินทางของมวลน้ำจากที่ต่างๆ โดยในพื้นที่ปัตตานี แบ่งแม่น้ำออกเป็น 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี โดยแม่น้ำปัตตานีจะรับน้ำจากเขื่อนบาลาง จ.ยะลา ไหลลงมาสู่แม่น้ำปัตตานี ในพื้นที่ของ อ.ยะรัง และไหลลงสู่ อ.แม่ลาน จากนั้นไหลลงสู่ อ.หนองจิก และจุดสุดท้ายจะไหลลงสู่เขตพื้นที่เมือง ทำให้พื้นที่ อ.เมือง เป็นพื้นที่สุดท้ายในการรับน้ำทั้งหมด ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล ทำให้พื้นที่ อ.เมือง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักกว่าพื้นที่อื่นๆ
ส่วนแม่น้ำสายบุรีจะรับน้ำจาก 2 จังหวัด ได้แก่ อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.สุคิริน อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส จะไหลลงสู่แม่น้ำสายบุรี และขยายไปสู่ อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.สายบุรี และ อ.กะพ้อ แต่สถานการณ์น้ำริมแม่น้ำสายบุรีจะไม่หนักเท่าริมแม่น้ำปัตตานี ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุน ทำให้คูคลองต่างๆ เอ่อล้นเข้าท่วมถนนสายต่างๆ แต่ขณะนี้เขื่อนบางลางยังคงมีการปล่อยน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ปล่อยน้ำในปริมาณที่ลดลงเหลือเพียง 1 เมตร จาก 2 เมตร และจะทยอยลดลงเรื่อยๆ ซึ่งมวลน้ำจากเขื่อนบางลางจะเดินทางเข้ามาสู่พื้นที่ของ จ.ปัตตานี จะใช้เวลา 48 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นมวลน้ำก่อนหน้านี้ยังค้างอยู่ ดังนั้น จ.ปัตตานี ยังคงต้องประสบกับน้ำท่วมอีกหลายวัน
ตอนนี้ทาง จ.ปัตตานี ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 8 อำเภอ แต่ประกาศให้มีการเฝ้าระวังทั้ง 12 อำเภอของจังหวัด เพราะป้องกันหากมีฝนตกหนักในพื้นที่ และการขยายวงกว้างของมวลน้ำในพื้นที่ด้วย โดยความเสียหายล่าสุดทั้งสิ้น 8 อำเภอ 35 ตำบล 131 หมู่บ้าน 9 ชุมชน 10,508 ครัวเรือน .-สำนักข่าวไทย
Credit เนื้อหาและภาพประกอบ https://tna.mcot.net/region-614846