กระทรวงสาธารณสุขรายงานมีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมแล้ว 26 ราย เจ็บป่วยกว่า 15,000 คนขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคเหนือหลายจังหวัดเริ่มคลี่คลาย ส่วนน้ำในแม่น้ำโขงยังไม่ลดระดับ
สถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือหลายจังหวัดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ที่จังหวัดแพร่ยังมีรายงานฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมามีรายงานว่า น้ำป่าได้เอ่อล้นจากอ่างเก็บน้ำห้วยผาคำ ตำบลป่าแมต อำเมือง จังหวัดแพร่ ทำให้บ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร และฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ยังส่งผลให้อ่างเก็บน้ำของเหมืองแร่เอกชน บริเวณดอยโง้มเกิดการแตกร้าว ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 40 หลัง ในตำบลบ้านปิน อำเภอลอง เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ส่วนน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลมาจากจังหวัดสุโขทัยได้กัดเซาะดินกั้นน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทอง ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกพังเสียหาย นาข้าวกว่า 10,000 ไร่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่เร่งทำแนวกั้นน้ำริมตลิ่งในเขตเทศบาลตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง หลังระดับน้ำในแม่น้ำน่าน เพิ่มสูงขึ้นเหลืออีกไม่ถึง 20 เซนติเมตรจะไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยคาดว่าน้ำเหนือจะไหลเข้ามาสมทบอีกภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนที่อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก และ ศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อคันดินริมตลิ่ง ที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร ทำให้มีน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านบางคลอง ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย โดยชาวบ้านต้องอยู่ท่ามกลางน้ำท่วมสูงมานานกว่า 10 วันแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านด่าน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เร่งนำกระสอบทรายมาวางทำแนวกั้นน้ำ ริมถนนสายโขงเจียม-อุบลราชธานี พร้อมสูบน้ำออกจากถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจรไป-มาได้ ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ล้นตลิ่งยังคงไหลเข้าท่วมบ้านเรือนใน 8 ชุมชน ขณะที่จังหวัดยโสธร น้ำจากลำน้ำเซบายที่ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมถนนเชื่อมระหว่างตำบลสามแยก กับตำบลสวาท อำเภอเลิงนกทา ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร เป็นทางยาวกว่า 300 เมตร และยังกัดเซาะถนน ทำให้การสัญจรค่อนข้างลำบาก
ส่วนน้ำเหนือที่ผันลงมายังภาคกลาง ทางกรมชลประทานมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลต่อภาคกลางตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ลงไปจนถึงสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมขังเช่นเดียวกับพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากได้กระจายนำไปสู่ระบบชลประทานสาขา ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกแล้ว
ด้านกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยยอดผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุนกเตนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีผู้ป่วยแล้วกว่า 15,000 คน แต่ยังไม่มีโรคระบาด มีรายงานผู้เสียชีวิต 26 ราย ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า พื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วใน 28 จังหวัด กินพื้นที่ 1,400,000 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 170,000 คน เป็นนาข้าว 1,200,000 ไร่ พืชไร่ 180,000 ไร่ พืชสวนและการเกษตรประเภทอื่นๆ อีก 95,000 ไร่ ส่วนชาวประมงเสียหาย 13,000 ราย บ่อปลาเสียหาย 11,000 ไร่
เบื้องต้น รัฐบาลกำหนดแนวทางการช่วยเหลือ 3 ระดับ คือ รับเรื่องร้องทุกข์ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เยียวยาช่วยเหลือพื้นที่น้ำลด และหามาตรการระยะยาวป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก ขณะที่คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ได้ขยายกรอบเวลาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาไปจนถึง 19 สิงหาคม เพื่อให้มีการช่วยเหลือเงินชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท และให้จ่ายเงินแล้วเสร็จภายใน 19 สิงหาคมนี้
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้(11 ส.ค.) ให้พิจารณาช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับความเสียหายตามช่วงเวลาของการเพาะปลูก เช่น ข้าวอายุ 1-30 วัน , 31-70 วัน และ 71 วันขึ้นไป ช่วยเหลือร้อยละ 50 ของต้นทุน ซึ่งมากกว่าเกณฑ์การช่วยเหลือในปัจจุบันที่ให้การชดเชยอยู่ที่ไร่ละ 606 บาท
ขอขอบคุณ http://news.thaipbs.or.th