วันที่ 16 พฤษภาคม นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ) พบว่า ราว 18.00 เป็นต้นไป พื้นที่กรุงเทพชั้นใน มีโอกาสที่จะเกิดพายุฝนตกหนักค่อนข้างสูง โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว มีสาเหตุมาจาก กระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้เหนี่ยวนำ กระแสลม ที่เกิดจาก การก่อตัวของพายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดีย เข้ามา ลมฝนดังกล่าวจะเริ่มจากฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ จ.ชลบุรี ไล่มาเรื่อยๆจนถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร แล้วออกไปทางนครปฐม
“คนกรุงเทพอาจจะเริ่มต้นกับฤดูฝนที่ไม่ดีนัก เพราะเจอครั้งแรกก็พายุกลางกรุงเลย ปริมาณน้ำฝนคาดว่า ค่าเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 100 มิลลิเมตร แต่บางพื้นที่อาจจะมีฝนตกถึง 150 มิลิเมตรเลยก็ได้” นายรอยล กล่าว
เมื่อถามว่าต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์เย็นวันนี้อย่างไรบ้าง ผู้อำนวยการสสนก.กล่าวว่า ใครไม่มีธุระที่ไหน ก็ควรจะรีบกลับบ้านก่อน 6 โมงเย็น เพราะหากกลับหลังจากนี้ อาจจะต้องติดฝนอยู่จนดึก
นายรอยล กล่าวว่า สำหรับการคาดการฝนล่วงหน้า 16-18 พฤษภาคม ในภาพรวมของประเทศนั้น พบว่า ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่มายังประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศร้อน ที่พาความชื้นเข้าสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าว มีฝนตกและลมพายุกระโชกแรง ประกอบกับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น และปะทะกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกเพิ่มขึ้นอีกด้วย และในวันที่ 19-22 พฤษภาคม นั้นพบว่า พายุที่ก่อตัวในทะเลอันดามัน ใกล้ชายฝั่งประเทศศรีลังกา จะมีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ ใกล้ชายฝั่งประเทศอินเดีย จากนั้นจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าสู่ตอนเหนือของประเทศพม่า ทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น และพัดปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้ประเทสไทยมีฝนตกหนักเป็นบางแห่ง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และด้านตะวันตกของประเทศ
ที่มาของข่าวและภาพประกอบ http://www.matichon.co.th/news/137395