นครราชสีมา ยังเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งรวม 11 อำเภอ 81 ตำบล ด้าน ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 ขอชาวโคราชช่วยกันประหยัด ยัน หากทำตามแผนพ้นฤดูแล้งนี้แน่นอน ขณะเขื่อนลำตะคองน้ำเหลือไม่ถึง 30% ความจุอ่าง
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 58 นายชิดชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 (นครราชสีมา) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำตามเขื่อนต่างๆ ของ จ.นครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เขื่อนหลักทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย, เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี, เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีระดับน้ำไม่ถึง 50% โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง ไม่ถึง 30% ต่อมาเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งมาช้ากว่าปกติและทิ้งช่วง ประกอบกับเกิดสภาวะความแห้งแล้ง จังหวัดต้องประกาศภัยแล้งทั้ง 32 อำเภอ
ขณะที่ช่วงฤดูฝนจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายฤดูจึงมีพายุฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณไหลเข้าทั้ง 5 เขื่อนมากขึ้น เช่น เขื่อนลำตะคอง ช่วงนั้นมีน้ำไหลเข้ากักเก็บกว่า 110 ล้าน ลบ.ม. และหลังจากสิ้นฤดูฝนมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีฝนตกลงมาอีกเลย ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่กว่า 102 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นนาปีไว้ 10 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือบริหารไว้ใช้อุปโภคบริโภค ส่วนนาปรัง ขอความร่วมมือว่า ช่วงนี้ถ้ามีน้ำเพียงแค่ให้กับต้นกล้า
"เขื่อน 5 เขื่อนหลักน้ำจะพอถึงฤดูฝนหน้าหรือไม่นั้น ถ้าพี่น้องประชาชนทุกคนช่วยกันรักษาวินัยรับรองว่าพ้นแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พวกเรามีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการใช้น้ำให้ลดลงประมาณ 10-15% ตรงนี้ที่ใช้น้ำลงทุกกิจกรรมจะช่วยประหยัดน้ำลงมา ซึ่งเป็นเซฟไว้กรณีที่มีฝนล่า เพราะถ้าปีนี้เราไม่ได้รับการเติมฝน ปีหน้าเรียกว่า เราจะเหนื่อยกันหนักเลย ฉะนั้น ถ้าช่วยประหยัดในเขื่อนได้มันจะมีประโยชน์ในการใช้ ในการอุปโภค บริโภค และใช้ในกิจกรรมที่จำเป็น ขอเรียนว่าตรงไหนที่เราเซฟน้ำได้เราเซฟตลอดอยู่แล้ว" นายชิดชนก กล่าว
สำหรับเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงพี่น้องประชาชน 6 อำเภอ และเทศบาลนครนครราชสีมา ประชากรกว่าล้านคนมีน้ำเหลือใช้การได้ประมาณ 102 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของความจุอ่าง 314 ล้าน ลบ.ม. หากพี่น้องประชาชนร่วมมือกันและทำตามแผนที่เสนอไว้ จะผ่านฤดูร้อนนี้ไปได้แน่นอน โดยมีการแยกปริมาณการใช้น้ำอุปโภค บริโภคไว้เรียบร้อยแล้ว และอยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด รวมทั้งการประปาเมือง ประปาภูมิภาค เนื่องจากมีแหล่งน้ำสำรองไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งจะให้สูบจากลำน้ำอื่นๆ ตามที่วางแผนไว้ละเอียดชัดเจนอยู่แล้ว
ขณะที่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ 32 อำเภอ ทาง ปภ.นครราชสีมา สรุปรายงานสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง รวม 11 อำเภอ 81 ตำบล 1 เทศบาล 884 หมู่บ้าน 16 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 61,630 ครัวเรือน พืชผลการเกษตรเสียหาย 936,679 ไร่.