สถานการณ์น้ำ ป่าสักล้นพิกัด เตือนสระบุรี-อยุธยาอพยพ

Tuesday, 01 October 2013 Read 723 times Written by 

01 10 2013 4

พายุ “หวู่ติ๊บ” บุกถล่มไทย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ถนนบางนา ได้รายงานสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “หวู่ติ๊บ” ที่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างราว 350 กม. ทางตะวันออกของ จ.นครพนม หรือที่ละติจูด 17.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กม.ต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 20 กม.ต่อชั่วโมง คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ตอนเหนือของเมืองเว้ ประเทศเวียดนามในเย็นวันที่ 30 ก.ย. จากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศ ไทยบริเวณ จ.นครพนม ในวันที่ 1 ต.ค. คาดว่าจะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณรอยต่อภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ภาคตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคเหนือด้านตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณ จ.นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติไว้ด้วย โดยจะเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบ่ายวันที่ 30 ก.ย. นอกจากนี้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือในช่วง 1-2 วันนี้ด้วย

ระดับน้ำป่าสักทะลักอ่าง

ขณะที่ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถาน การณ์น้ำ กรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 839 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 107 ของความจุเก็บกักที่ 785 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับพายุไต้ฝุ่น “หวู่ติ๊บ” จะขึ้นฝั่งที่เวียดนามและประเทศไทยอีกหลายจังหวัด ดังนั้นกรมชลฯจำเป็นต้องเพิ่มการพร่องน้ำจากเขื่อนป่าสักเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำในเกณฑ์ประมาณ 350-400 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ประมาณ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากวันที่ 29 ก.ย. อีกประมาณ 65 ซม. ใน จ.สระบุรี ส่วนด้านท้ายเขื่อนพระรามหกใน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.90-1.10 เมตรจากระดับน้ำปัจจุบัน

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมจึงแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.สระบุรี กับพระนครศรีอยุธยา ให้เตือนประชาชนที่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำ ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นบนที่สูง หรือที่ปลอดภัยจากระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ พร้อมกับขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย

ผวา“เหนือ-อีสาน”จมบาดาล

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถานการณ์น้ำท่วมถึงปัจจุบันรวม 32 จังหวัด 233 อำเภอ 1,384 ตำบล 11,033 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 809,646 ครัวเรือน 2,789,398 คน บ้านเรือนเสียหาย 11,400 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,943,000 ไร่ ถนน 4,265 สาย สะพาน 174 แห่ง ฝายหรือทำนบ 515 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 22 ราย โดยขณะนี้สถานการณ์คลี่คลาย 7 จังหวัด คือ จ.กาญจนบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ พะเยา และ จ.แม่ฮ่องสอน ที่เหลืออีก 25 จังหวัดแยกเป็นน้ำป่าไหลหลาก 21 จังหวัด แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด คือ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ยโสธร และ จ.มุกดาหาร ภาคเหนือ 6 จังหวัด คือ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และ จ.อุทัยธานี ภาคกลาง 3 จังหวัด คือ จ.ลพบุรี สระบุรี และ จ.ชัยนาท ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ จ.สระแก้ว ปราจีน บุรี นครนายก และ จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และ จ.สุพรรณบุรี

นายฉัตรชัย ระบุต่อว่า เรายังต้องเฝ้าระวังชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ เพราะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขามีระดับน้ำสูงขึ้น จากการลงพื้นที่พบว่าหลายพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง อีกทั้งในวันที่ 30 ก.ย.พายุหวู่ติ๊บจะเคลื่อนเข้าสู่ไทยบริเวณ จ.นครพนม ทำให้ด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคเหนือด้านตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมาก บางจังหวัดประสบอุทกภัยอยู่แล้ว อาจส่งผลให้สถานการณ์ขยายวงกว้างมากขึ้น

ฟันธง “กรุงเทพฯ” รอดชัวร์

ส่วนนายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหา วิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ขณะนี้ว่า ตอนนี้ไม่น่ากังวลสำหรับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นช่วงเข้าเดือน ต.ค. ซึ่งมรสุมจะเคลื่อนตัวสู่ภาคใต้ ส่วนน้ำท่วมบางพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและในพื้นที่ จ.ปราจีน บุรี เป็นน้ำทุ่งที่ฝนตกลงในทุ่ง อย่างไรก็ตามการระบายน้ำเป็นไปได้ช้า เพราะมีการสร้างคันกั้นน้ำยกสูงป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำคูคลอง เลยทำให้การระบายลงแม่น้ำต้องใช้เวลานาน ส่วนที่กังวลว่าน้ำเหนือจะไหลมาสมทบและท่วม กทม. นั้น ขอยืนยันว่าพายุหวู่ติ๊บไม่กระทบกับ กทม. จ.ปราจีนบุรี หรือภาคตะวันออกเพราะพายุจะเข้าภาคอีสานตอนบน และเป็นผลดีต่อภาคอีสานตอนบนด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นการเติมน้ำในเขื่อนที่ยังรับน้ำได้อีกมาก เช่น เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี และเชื่อว่าหลังจากนี้จะไม่มีพายุเข้ามาอีกเพราะพ้นฤดูมรสุมแล้ว รวมทั้งน้ำในแม่น้ำทางตอนบนของ กทม. หลายจังหวัดยังต่ำกว่าตลิ่ง ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54 จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เติมน้ำบาดาลแก้ท่วม-แล้ง

ขณะที่นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุว่า ได้เตรียมจัดทำโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จ.พิจิตร พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย เพื่อแก้ปัญหาขาด แคลนน้ำในการเกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จากการศึกษาพื้นที่ใน 3 จังหวัดมีพื้นที่ 13.3 ล้านไร่ ที่ประสบปัญหาการลดระดับของน้ำบาดาลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสูบน้ำบาดาลมาใช้ในการเกษตรถึงปีละ 7,800 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หากยังมีการสูบน้ำบาดาลเกินสมดุลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นแห้งตัวลงก่อนกลายเป็นชั้นน้ำบาดาลตาย ซึ่งจะส่งผล กระทบเป็นวงกว้างต่อการเกษตรกรรม

นายสุพจน์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นดินผ่านระบบสระน้ำได้เลือกพื้นที่บ้านหนองนา ต.หนองกุลา อ.บาง ระกำ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่องโดยจะดำเนินการพื้นที่ 8 ไร่ ประกอบด้วยระบบผันน้ำ ระบบบึงประดิษฐ์ และระบบเติมน้ำพร้อมมีระบบติดตามตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล โดยระบบเติมน้ำจากการศึกษาพบว่ามีพื้นที่เหมาะรวมทั้งสิ้น 65 ตำบลใน จ.พิษณุโลก 28 ตำบลในพิจิตร และ 25 ตำบลใน จ.สุโขทัย โดยจะสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ไม่น้อยกว่า 935 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ใกล้เคียงกับการกักเก็บน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ 960 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)

รมว.อุตฯยันนิคมรับมือได้

วันเดียวกันคณะของนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมที่ จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 และโรงงานต่าง ๆ ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม โดยสวนอุตสาหกรรม 304 ได้นำกระสอบทรายยักษ์มาเสริมแนวกัน พร้อมกับเตรียมคันกั้นน้ำเคลื่อนที่สูง 1.20 เมตร เตรียมพร้อมหากเกิดน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม โดยนายประเสริฐกล่าวว่า มั่นใจว่าพื้นที่นิคมฯทั่วประเทศจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการป้องกันอย่างเต็มที่ พร้อมกับจัดทีมเฝ้าติดตามน้ำขึ้นน้ำลงอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ประสบภัยศูนย์บัญชาการและเฝ้าระวังน้ำท่วม เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (1 ต.ค.) อย่างไรก็ตามโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว 5 รายแต่ไม่รุนแรง โดยมูลค่าความเสียหายคาดรวมกว่า 1 ล้านบาท

นิคม 304 ยันไม่โดนน้ำท่วม

ขณะที่นายพูลศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่มีข่าวว่ามีน้ำเอ่อล้นทะลักเข้าท่วมโรงงานในสวนนิคมอุตสาหกรรม 304 นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากน้ำหน้าโรงงานอัลฟ่าในภาพข่าวนั้นเป็นเพียงน้ำฝนที่รอการระบาย จากฝนที่ตกต่อเนื่องในวันที่ 27 ก.ย. โดยสวนอุตสาหกรรมฯได้เข้าจัดการระบบระบายน้ำให้มีการไหลเวียนได้ดีมากยิ่งขึ้น จนทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวแห้งเช่นเดิมในตอนเย็นวันที่ 28 ก.ย. เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับเส้นทางหน้าโรงงานไดเซล ไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยสามารถสัญจรเดินทางเข้าออกได้ตามปกติ ที่ผ่านมาพื้นที่โรงงานของทุกโรงงานในสวนอุตสาหกรรม 304 ไม่มีน้ำท่วมแต่อย่างใด เนื่องจากทุกโรงงานอยู่ในพื้นที่สูง ดังนั้นจึงสามารถเดินเครื่องจักรการผลิตได้ตามปกติมาโดยตลอด

สองแควพนังกั้นพังน้ำทะลัก

ที่ จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำวังทอง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระแสน้ำไหลทะลักเข้าท่วม อ.วังทอง อ.บางกระทุ่ม และ อ.เนินมะปรางเป็นวงกว้าง โดยขณะนี้ทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ว 8 อำเภอ อีกทั้งกระแสน้ำวังทอง ยังซัดพนังกั้นตลิ่งพังเป็นทางยาว ก่อนจะไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านต้องรีบขนของหนีน้ำกันโกลาหล นอกจากนี้ทางวัดวังสำโรง หมู่ 8 ต.วังพิกุล อ.วังทอง โดนกระแสน้ำทะลักเข้าท่วมบริเวณวัดจนพระกับชาวบ้านต้องช่วยกันขนพระพุทธรูปเก่าแก่ไปไว้บนที่สูง

กรุงเก่ารอรับมือมวลน้ำ

จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่าถนนสายอยุธยา-บางปะอิน ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน เกิดทรุดตัวพังทลายลึกกว่า 1 เมตร ยาว 10 เมตร โดยยังมีการทรุดตัวเป็นระยะ เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักจนน้ำท่วมถนน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังหาทางแก้ไขเบื้องต้น ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้ประกาศเตือนชาวบ้านที่อาศัยริมแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา ให้เตรียมพร้อมและเก็บของขึ้นที่สูง เพราะจะมีมวลน้ำจำนวนมากไหลมารวมกันที่เขื่อนพระรามหกในเย็นวันนี้ (1 ต.ค.) โดยทางเทศบาลตำบลท่าเรือ ได้เตรียมกระสอบทรายไว้เตรียมพร้อมหากระดับน้ำสูงขึ้น

แม่น้ำมูลรับไม่ไหวล้นตลิ่ง

ที่ จ.อุบลราชธานี ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำมูลได้เพิ่มสูงขึ้นที่ 8.80 เมตร ซึ่งสูงเลยขีดเตือนภัยที่ 6.50 เมตร ทำให้กระแสน้ำเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณเป็นวงกว้าง ชาวบ้านต้องเร่งขนของอพยพหนีกันโกลาหล ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขณะนี้ระดับน้ำมีปริมาณสูงกว่าปี 55 ในวันเดียวกันอยู่ที่ 433.80 ล้านลบ.ม. โดยยังรับน้ำได้อีก 901.28 ล้านลบ.ม. ขณะที่อีกหลายจังหวัดยังวิกฤติระดับน้ำไม่มีทีท่าว่าจะลด เช่น จ.ปราจีนบุรี สุรินทร์ ต่างกับที่ จ.นครราชสีมา ระดับน้ำใน ต.พลับพลา ต.ท่าเยี่ยม และ ต.กระโทก อ.โชคชัย เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาอีกสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ใน จ.ปราจีนบุรี ยังวิกฤติอย่างหนักหลังเมื่อคืนพายุฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนักนานหลายชั่วโมง ส่งผลให้หลายพื้นที่เช่น อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีเอ่อล้นทะลัก ชาวบ้านต่างพากันแตกตื่นรีบขนย้ายข้าวของหนีขึ้นชั้นบน เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ถนนหลายสายยังจมบาดาลรถเล็กไม่สามารถแล่นผ่านสัญจรไปมาได้ อาทิ ถนนสายปราจีนตคาม ถนนสายปราจีน-ศรีมหาโพธิ ถนนสายสุวรรณศร ถนนสายกรุงเทพฯ-สระแก้ว โดนน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 20-50 ซม.

Credit : http://www.dailynews.co.th

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank