น.ส.อมรรัตน์ สุนทรวิภาต หัวหน้าศูนย์บริการลูกค้า และประชาสัมพันธ์ รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ทุกคนต้องสัมผัสได้ถึงสภาพอากาศร้อนจัด และอบอ้าว ในบ้านเราโดยหนึ่งโรคที่น่าห่วงในช่วงหน้าร้อนก็คือ โรคลมแดด หรือฮีทสโตรค เนื่องจากอากาศร้อนส่งผลให้ร่างกาย ไม่สามารถปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม กับการที่ต้องอยู่ในสถานที่ หรือในสภาพอากาศร้อนได้ มักเกิดขึ้นกับ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่พักผ่อนเพียงพอ และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัด
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เคยออกข้อสังเกตให้ประชาชนรู้ทันว่า อาการเช่นไร บ่งบอกว่า คุณกำลังเป็นโรคลมแดด อาการสำคัญประกอบด้วย ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มึนงง และหายใจเร็ว จนอาจทำให้หน้ามืดเป็นลมหมดสติ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอุณหภูมิร่างกายกำลังเพิ่มสูง โดยอาจสูงไปได้ถึง 40 องศา ประกอบกับเส้นเลือดส่วนปลายขยาย และความดันโลหิตต่ำลง หากสังเกตว่า ตนเอง หรือคนรอบข้างมีอาการคล้ายโรคลมแดด ให้รีบเข้าที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นรีบระบายความร้อน เช่น ปลดเสื้อผ้าชิ้นหนาๆ ออกก่อน แล้วเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติ ร่วมกับพัดให้ลมเย็นๆ ทั่วตัวผู้ป่วย และรีบพาส่งโรงพยาบาล
"ส่วนหลักป้องกันโรคลมแดดที่มักเกิดในช่วงอากาศร้อนจัดๆ เช่นนี้ แนะดื่มน้ำบ่อยๆ ค่อยๆ จิบน้ำไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ จนรู้สึกกระหาย หรือริมฝีปากแห้ง ผิวหนังแห้ง หรือพยายามจัดสรรให้ดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 6-8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงการออกไปอยู่ในบริเวณที่แดดแรง หากจำเป็นต้องทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร อีกทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเป็นชนิดที่ระบายอากาศได้ดี" น.ส.อมรรัตน์ กล่าว
Credit: http://www.dailynews.co.th