ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองวิกฤตภัยแล้งปี 2556 อาจรุนแรงกว่าคาด หลังน้ำในเขื่อนใหญ่ต่ำกว่าวิกฤตแล้งปี 2548 เตือนเกษตรกรภาคเหนือและอีสานในบางจังหวัดอาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าปี 48
ภัยแล้งปี 2556 เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 อาจยาวนานถึง พฤษภาคม 2556 ขณะนี้ได้เกิดภัยแล้งแล้ว 35 จังหวัด ภาคอีสานแล้งหนักถึง 15 จังหวัด และภาคเหนือ 13 จังหวัด สาเหตุจากปริมาณน้ำฝนตกปี 2555 น้อยกว่าปี 2554 โดยเฉลี่ยทั้งประเทศมีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ย 1,482.4 มิลลิเมตร ลดลงร้อยละ 5.0 จากค่าเฉลี่ยกลาง และลดลงร้อยละ 18.1 จากปี 2554
โดยภาคอีสานและภาคเหนือมีปริมาณฝนตกลดลงร้อยละ 28.5 และ 27.8 ตามลำดับ จากปี 2554 ทำให้ปริมาณน้ำในไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำลดลง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเนื่องจากหวั่นจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งน้ำให้กับภาคเหนือและภาคกลาง มีปริมาตรน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2556เพียงร้อยละ 17.8 ลดลงจากอดีตที่ร้อยละ 40.1 ในช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่ภัยแล้งภาคอีสานนั้นเข้าขั้นวิกฤตกว่า มีปริมาตรน้ำใช้การเพียงร้อยละ 13.1 ลดจากอดีตที่ร้อยละ 31.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบสิบปี ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะต้องบริหารจัดการให้เพียงพอกับฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แต่หากฝนทิ้งช่วงในต้นฤดูฝน จะยิ่งทำให้วิกฤติภัยแล้งรุนแรงขึ้นอีก
ผลของภัยแล้งที่ขยายพื้นที่กว้างขึ้นพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 4 ล้านไร่ โดยกว่าร้อยละ 95 เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) คาดว่าปริมาณข้าวนาปรังที่จะเข้าโครงการรับจำนำลดลงจากที่ประมาณการณ์ไว้ 11 ล้านตัน เหลือเพียง 7-8 ล้านตันเท่านั้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศงดการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ในเขตพื้นที่ชลประทาน เพราะปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ แต่ปรากฏว่าพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากลับสูงกว่าแผนเดิมกว่า 0.92 ล้านไร่ จากที่กำหนดไว้ 5.40 ล้านไร่
หากศึกษาเทียบกับผลกระทบของวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ในปี 2548 มีพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบกว่า 13.7 ล้านไร่ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรของไทย หดตัวร้อยละ 2.7 โดยภาคเหนือและภาคอีสาน หดตัวร้อยละ 4.8 และ 2.8
เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด เฉพาะภาคเกษตรพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงในภาคเหนือ คือ สุโขทัย ตาก และแพร่ มีการหดตัวร้อยละ 17.0, 13.6 และ 13.0 ส่วนในภาคอีสานพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ อุดรธานี มุกดาหาร นครราชสีมา ชัยภูมิ ซึ่งตัวเลขหดตัวเกินกว่าร้อยละ 10.0 จากปีก่อน
การหดตัวดังกล่าวเกิดจากรายได้ของเกษตรลดลงเนื่องจากไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตตกต่ำเนื่องจากขาดน้ำ รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงต่างๆในช่วงที่เกิดภัยแล้ง โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก และคาดว่าหากฝนยังคงทิ้งช่วงในต้นฤดูฝน อาจทำให้บางจังหวัดที่กล่าวมาแล้วได้รับผลกระทบสูงกว่าวิกฤติภัยแล้ง 2548 เพราะปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้เหลือน้อยกว่าในปี 2548 ค่อนข้างมาก
แนวทางป้องกันความเสียหายสำหรับเกษตรกรและประชาชน คือ การงดปลูกพืชตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่เพียงเพราะเพื่อประหยัดน้ำ แต่เป็นการลดความเสียหายจากภัยแล้งที่อาจจะได้รับ สำรองน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และภาครัฐควรมีแผนหรือมาตรการระยะสั้นสำหรับภัยแล้งฉับพลันที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที
อีกทั้งหาทางแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งระยะยาว โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อบรรเทาความเสียหายและสามารถใช้พื้นที่ในการเกษตรได้ในฤดูแล้ง
credit: http://news.thaipbs.or.th/