รัฐบาลรับมือวุ่นแก้วิกฤตแล้ง อีสาน-เหนือ-ลุ่มเจ้าพระยาหนัก

Sunday, 03 March 2013 Read 616 times Written by 

03 03 2013 4-1

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนทิ้งช่วง/ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 จำนวน 35 จังหวัด 362 อำเภอ 2,409 ตำบล 23,445 หมู่บ้าน

ล่าสุด ภาคเกษตรเสียหาย 34 จังหวัด ต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินประกอบด้วย ภาคเหนือ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ตาก ลำพูน เชียงราย น่าน กำแพงเพชร และแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ อุดรธานี บึงกาฬ มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และภาคใต้ จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สตูล

ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง โดยการแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว รัฐบาลจะประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด จัดทำแผน การบูรณาการจัดการน้ำทั้งระบบ รวมทั้งแก้ปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม จัดเป็นปฏิทินการบริหารน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

แม้ที่ผ่านมากรมชลประทานวางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้ง ปี 2555/2556 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2555-30 เม.ย. 2556 ณ วันที่ 1 พ.ย. 2555 ปริมาตร น้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ 31,469 ล้านลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 23,570 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,846 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 6,600 ล้านลบ.ม. เกษตรกรรม 14,900 ล้านลบ.ม. และอุตสาหกรรม 224 ล้านลบ.ม. โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 9,000 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้านลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,800 ล้านลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 6,100 ล้านลบ.ม.

ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2555 ถึงปัจจุบัน ผลการจัดสรรน้ำ ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ใช้น้ำไปแล้ว 13,384 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 57% ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ และลุ่มน้ำแม่กลอง) ใช้น้ำไปแล้ว 6,205 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 69% ของแผนจัดสรรน้ำ

ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันจำนวน 43,157 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 62% ของความจุอ่างฯ ขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่นำมาใช้การได้ จำนวน 19,658 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28% ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด

ส่งผลให้เกิดความเสียหายในส่วนของภาคการเกษตรรวมประมาณ 2,431.636 ล้านบาท แยกเป็น ด้านพืช มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 6,398,655 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6,321,366 ไร่ พืชไร่ 74,123 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 3,166 ไร่

ปัจจุบันการสำรวจพบความเสียหายแล้ว เป็นเกษตรกร 518,159 ราย พื้นที่เสียหาย 3,936,448 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,884,449 ไร่ พืชไร่ 50,694 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,305 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 2,401.215 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วยเหลือแล้ว 7.068 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,394.147 ล้านบาท

ด้านประมง เกษตรกรได้รับความเสียหาย 963 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 4,352 ไร่เป็นปลาทุกชนิด 59 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 4,293 ไร่ กระชัง 648 ตารางเมตร คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 37.489 ล้านบาท ช่วยเหลือเสร็จแล้ว 1.33 แสนบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 37.356 ล้านบาท ส่วนด้านปศุสัตว์ยังไม่มีรายงานผลกระทบ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนได้ลดลงจำนวนมาก และไม่เพียงพอที่จะทำนาปรังรอบ 2 ที่เกษตรกรเริ่มปลูกกันแล้ว โดยมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะขาดแคลนน้ำช่วงปลายเดือนมี.ค.-กลางเดือนเม.ย.นี้ สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีอยู่ในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯจะคำนึงถึงการใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะส่งรถบรรทุกน้ำกระจายให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง หากกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามที่กำหนดไว้ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดลงในเดือนพ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะติดตามสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงตามมาอีกหรือไม่ แต่จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในเดือนมี.ค.นี้จะมีฝนตกกระจายในภาคเหนือ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะพิจารณาทำฝนหลวงในเขตที่เหมาะสมเพื่อเติมน้ำในเขื่อน ส่วนภาคอีสานสถานการณ์ภัยแล้งยังรุนแรงต่อเนื่อง

"ตอนนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดการทำนาปรังรอบ 2 โดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงที่จะขาดน้ำในช่วงที่ข้าวตั้งท้อง การลงทุนของเกษตรกรจะเปล่าประโยชน์ ในขณะที่รัฐบาลจะไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือใดๆ เนื่องจากมีการเตือนภัยไว้ล่วงหน้าแล้ว รวมทั้งภัยแล้งที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาด เพราะผลผลิตในนาปีและนาปรังที่ผ่านมาประมาณ 32 ล้านตันข้าวเปลือกเพียงพอต่อการบริโภคภายในและการส่งออกแล้ว" นายยุคลกล่าว

สำหรับการทำนาปรังที่เริ่มปลูกตั้งแต่ปลายปี 2555 ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้วพบว่ามีพื้นที่ปลูกรวม 6 ล้านไร่ เกินแผนไป 1 ล้านไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำสำรองในเขื่อนให้การช่วยเหลือ และไม่กระทบกับแผนในภาพรวม แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือในการทำนาปรังรอบที่ 2

ด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนขณะนี้ต้องเรียงลำดับความสำคัญของการใช้ประโยชน์ โดยต้องคำนึงถึงเรื่องอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาคือการใช้เพื่อผลักดันน้ำเค็มที่จะขึ้นสูงมากในช่วงหน้าแล้ง ส่วนภาคการเกษตรจะมีผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรต้องเข้าใจเพราะน้ำในเขื่อนเหลืออยู่น้อยมาก แต่หากมีการใช้ตามแผนที่กรมชลประทานกำหนด ก็จะเพียงพอสำหรับทุกฝ่าย

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ซึ่งคาดว่าน่าจะรุนแรงไม่น้อย โดยกรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี นาปรัง พืชไร่ และอุปโภคบริโภค รวมทั้งหมด 1,877 เครื่อง

ปัจจุบัน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือตามพื้นที่จำนวน 534 เครื่อง และเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำรวมทั้งหมด 295 คัน ภาคเหนือ 55 คัน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 90 คัน, ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก 114 คัน, ภาคใต้ 36 คัน ส่งช่วยเหลือจำนวน 12 คัน ที่จังหวัดพิจิตร 1 คัน จังหวัดกาฬสินธุ์ 2 คัน จังหวัดมหาสารคาม 1 คัน และจังหวัดจันทบุรี 8 คัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2556 ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ที่อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2556 ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอีก 1 หน่วย ที่จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันมีเครื่องบินพร้อมปฏิบัติการรวม 33 ลำ เป็นเครื่องบินปีก 26 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 7 ลำ และมีเครื่องบินของกองทัพอากาศที่พร้อมให้การสนับสนุนการทำฝนหลวงอีกจำนวน 9 ลำ ซึ่งผลการปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-11 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน จำนวน 52 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด

แต่ฤดูแล้งที่เหลืออีกประมาณ 2 เดือน คือ มี.ค.-เม.ย.2556 ภาคอีสานไม่ต้องพูดถึงเพราะแล้งมานาน ส่วนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหลือน้ำใช้ตามแผนเพียง 33% ของความจุอ่างฯ แต่ราคาข้าวในโครงการรัฐบาลสูงลิ่ว ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะข้าวนาปรังยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้น้ำมากขึ้น ต่อเนื่อง

หากมีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ เหลือน้อย และอาจจะทำให้การทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพ.ค.นี้ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้

Credit: http://www.khaosod.co.th

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank