สำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ โนอา (NOAA) เผยภาพน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกที่ละลายรวดเร็วเป็นประวัติการณ์
ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีน้ำแข็งในทะเลเหลือไม่ถึง 4 ล้านตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่มีการสำรวจผ่านดาวเทียมครั้งแรกเมื่อปี 2522 แผนที่แอนิเมชันเผยให้เห็นความหนาแน่นของน้ำแข็ง โดยพื้นที่สีดำคือปริมาณน้ำแข็งเฉลี่ยในช่วงปี 2522 ถึงปี 2543 ส่วนชั้นด้านบนคือปริมาณที่วัดได้จากดาวเทียมในแต่ละวันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 14 กันยายนปีนี้
ว่ากันว่าการละลายอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม เมื่อระดับน้ำแข็งปี 2555 ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นประวัติการณ์ โดยสาเหตุของการละลายอย่างรวดเร็วนี้ เชื่อว่าเกิดจากภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ขณะที่ปัจจัยตามธรรมชาติอื่นๆ เช่น พายุที่พัดน้ำแข็งหายไปมากในเดือนสิงหาคมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเท่ากับภาวะโลกร้อน
ขณะที่ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชี้ว่าการละลายของน้ำแข็งในอาร์กติก เป็นปัจจัยทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดโต่งมากขึ้น เช่น ฝนแล้งจัด น้ำท่วมหนัก อากาศหนาวจัด และคลื่นความร้อนที่ผิดปกติ นอกจากนี้น้ำแข็งในอาร์กติก ก็ยังมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ซึ่งรวมถึง หมีขั้วโลกด้วย
Credit: http://www.krobkruakao.com