เอเอฟพี - รัฐบาลเปรูเผยเมื่อวันพุธ(9) ว่านกกว่า 5,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นนกกระทุงและโลมาเกือบ 900 ตัวที่พบตายเกลื่อนตามแถบชายฝั่งทางเหนือของประเทศ มีความเป็นไปได้ที่อาจมีสาเหตุมาจากระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ชายหาดต่างๆทางเหนือของเปรูถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามเข้า ขณะที่เหล่านักวิทยาศาสตร์เร่งดำเนินสรุปว่าอะไรคือสาเหตุของปรากฎการณ์แปลกประหลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อาจเกิดจากเครื่องจักรขนาดใหญ่ ซึ่งองค์กรเอกชนไม่แสงหาผลกำไรกล่าวโทษว่าโครงการสำรวจหาแหล่งน้ำมันในทะเล
อย่างไรก็ตามทาง กาเบรียล กวิจานเดรีย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเปรู โต้แย้งว่าน้ำที่อุ่นขึ้นน่าจะเป็นสาเหตุของโลมาเกยตื้นและนกตายมากกว่า เนื่องจากมันก่อผลกระทบต่อแหล่งอาหารของสัตว์เหล่านี้
เขาบอกว่าแม้ผลชันสูตรโลมา 877 ตัวที่เกยตื้นตามชายฝั่งยังไม่แล้วเสร็จ แต่เบื้องต้นพบว่าการปนเปื้อนโลหะหนักหรือติดเชื้อแบคทีเรียไม่เกี่ยวข้องกับการตายของสัตว์เหล่านั้น
กวิจานเดรีย บอกต่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ปรากฎการณ์นี้จะแผ่ลามไปยังพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ และผลก็คืออาจพบนกและสัตว์ทะเลอื่นๆตายมากกว่านี้
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของเปรูได้ประกาศเตือนและเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ห่างจากชายหาดต่างๆทั่วเมืองลิมาและชายฝั่งทางเหนือของประเทศจนกว่าจะทราบสาเหตุการเสียชีวิตของฝูงโลมา
ก่อนหน้านี้องค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ORCA กล่าวโทษการตายของโลมาว่าเกิดจากการทดสอบคลื่นสั่นสะเทือนเพื่อหาแหล่งน้ำมันในพื้นที่ ซึ่งจะก่อเสียงใต้น้ำที่สามารถทำร้ายโลมาได้
อย่างไรก็ตาม คาร์ลอส ยาเพน ตัวแทนของกลุ่มเผยในวันพุธ(9) ว่าจากการตรวจสอบซากโลมา 30 ตัวพบว่ามีสภาพกระดูกหูแตกและอวัยวะบางส่วนได้รับความเสียหายสอดคล้องกับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคลดความกด(เมาความกดอากาศ)
ด้าน อับราฮัม เลวี ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบอกกับเอเอฟพีเมื่อวันอังคาร(8) ว่าอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกสืบเนื่องจากปรากฎการณ์เอล นิโญ น่าจะเป็นต้นตอการตายของโลมาและนกตามชายฝั่ง
ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000057428