แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งกั้นกลางระหว่างทวีปอเมริกากับแผ่นดินยุโรปและแอฟริกานั้น กำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นปีละกว่า 4 เซนติเมตร จนเบียดให้มหาสมุทรแปซิฟิกค่อย ๆ แคบลงไปด้วย แต่พวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าปรากฏการณ์นี้มาจากสาเหตุใดกันแน่
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากอิตาลี ออสเตรีย และสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาที่ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลมาหลายปีลงในวารสาร Nature โดยระบุว่าความเคลื่อนไหวที่ผิดคาดของแผ่นเปลือกโลกใต้ผืนน้ำ บริเวณเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นต้นเหตุที่นำมาซึ่งการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของผืนมหาสมุทรในครั้งนี้
ย้อนไปเมื่อปี 2016 มีการใช้เรือสำรวจหย่อนอุปกรณ์ตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (seismometer) รวม 39 ตัว ลงไปที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณเทือกเขากลางมหาสมุทรนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา เพื่อทราบถึงความเคลื่อนไหวของหินหลอมละลายหรือแมกมาในชั้นเนื้อโลก (mantle) ได้ชัดเจนขึ้น
ตามทฤษฎีดั้งเดิมที่ว่าด้วยการแปรสัณฐานของแผ่นธรณีภาค หรือทฤษฎีความเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลก เชื่อว่าบริเวณใต้เทือกเขากลางมหาสมุทรนั้นสงบนิ่ง ไม่สู้จะมีบทบาทต่อพลวัตความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยามากนัก
แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์กลับได้พบกับเรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อผลการตรวจวัดล่าสุดชี้ว่า แมกมาที่ไหลเวียนในชั้นเนื้อโลกซึ่งจะเอ่อล้นขึ้นมาด้านบนและกลับจมลงไปด้านล่างครั้งแล้วครั้งเล่า มีแรงดันมากพอที่จะทำให้แผ่นเปลือกโลกบริเวณเทือกเขากลางมหาสมุทรขยายตัวและเคลื่อนห่างออกจากกันได้
ทีมผู้วิจัยบอกว่า ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับกระบวนการที่ทำให้เกิดเกาะภูเขาไฟอย่างฮาวายหรือไอซ์แลนด์ แต่การไหลเวียนของแมกมาที่เป็นตัวการขยายพื้นก้นสมุทรให้กว้างขึ้นนี้ กลับไม่มีการระเบิดปะทุของแมกมาออกมาจากชั้นเนื้อโลก เปรียบเสมือนกับไขมันและหนองที่ดันหัวสิวให้โป่งนูนขึ้น แต่ยังไม่แตกออก
การค้นพบดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องทบทวนความรู้เดิมด้านธรณีวิทยาเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่ว่ามหาสมุทรแอตแลนติกนั้นสงบนิ่ง ไม่สู้มีความเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกมากเท่ากับมหาสมุทรแปซิฟิกที่มี "วงแหวนแห่งไฟ" (Ring of Fire)
Credit เนื้อหาและภาพประกอบ https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_5854915