ทีมนักวิจัยและอาสาสมัครซึ่งนำโดย ไบรอัน วีคส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เก็บซากนกอพยพที่บินชนตึกในเมืองชิคาโกรัฐอิลลินอยส์ 70,716 ซากจาก 52 สายพันธุ์ที่อยู่อาศัยในทวีปอเมริกาเหนือแล้วทำการวัดขนาด
จากการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่ปี 1978-2016 หรือในช่วง 38 ปี ความยาวของกระดูกขาช่วงล่างของนก ซึ่งเป็นวิธีปกติที่ใช้วัดขนาดลำตัว สั้นลง 2.4% ในขณะที่ความยาวของปีกกลับเพิ่มขึ้น 1.3%
ช่วงเวลาดังกล่าวประจวบเหมาะกับช่วงที่อุณหภูมิของโลกค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทีมวิจัยเชื่อว่าขนาดตัวนกที่เล็กลงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากขนาดตัวของสัตว์มักจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่พวกมันอาศัยอยู่ โดยสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน หากอาศัยอยู่ในโซนที่มีอากาศเย็นจะตัวใหญ่กว่ากลุ่มที่อาศัยในเขตที่อุ่นกว่า เพื่อช่วยให้ร่างกายรักษาความร้อนเอาไว้
ทีมยังตั้งทฤษฎีต่อไปว่า การอพยพหนีความหนาวถือเป็นภารกิจสำคัญของนก และเมื่อนกเหล่านี้ตัวเล็กลงพวกมันก็จะมีพลังงานสะสมเพื่อใช้ในการอพยพเป็นระยะทางไกลน้อยลงไปด้วย ธรรมชาติจึงทดแทนด้วยการพัฒนาปีกให้ยาวขึ้น เพื่อให้นกสามารถอพยพได้ตลอดรอดฝั่ง
ทฤษฎีดังกล่าวมีหลักฐานสนับสนุน อย่างในปี 2014 งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าแพะพันธุ์อัลไพน์ตัวเล็กลงเนื่องจากอุณหภูมิอุ่นขึ้น และในปีเดียวกันงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบอีกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาสทำให้ซาลาแมนเดอร์ตัวเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเผยอีกว่า งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ถือเป็นการศึกษาตัวอย่างนกที่มากที่สุด และการค้นพบนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าสัตว์ต่างๆ จะตอบสนองและปรับตัวกับภาวะโลกร้อนอย่างไร เพราะโดยปกติแล้วการศึกษาในประเด็นดังกล่าวมักจะมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และช่วงเวลาในการดำรงชีวิต เช่น การอพยพ การออกลูก แต่การวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่ารูปร่างและโครงสร้างของตัวสัตว์ก็สำคัญเช่นกัน