โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยรายงานภาพรวมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ทั่วโลกประจำปี 2019 (Emissions Gap Report) โดยพบว่า นานาประเทศยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี และเมื่อปีที่แล้วมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 55 กิกะตัน ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีก 3.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2100
รายงานยังระบุอีกว่า 4 ปีหลังจากการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยสภาพอากาศปารีสว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ประเทศเหล่านั้นกลับไม่สนใจคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์และยังเดินหน้าปล่อยก๊าซอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง 2 ประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดในโลกอย่างจีนและสหรัฐ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า หากต้องการรักษาระดับอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคอุตสาหกรรม ทุกประเทศต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 7.6% ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง อาทิ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหิน หยุดการตัดไม้ทำลายป่า หันไปใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้แก๊สและเชื้อเพลิงดีเซลบนท้องถนน
นอกจากนี้ รายงานของ UNEP ยังจับตาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศมั่งคั่งในกลุ่มจี 20 ซึ่งปล่อยก๊าซรวมกันเป็นสัดส่วน 78% ของก๊าซที่ทั้งโลกปล่อยออกมา จนถึงขณะนี้มีเพียงสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศสเท่านั้นที่มีเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์
ส่วนอีก 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐ ต้องลงมือลดการปล่อยก๊าซให้มากกว่าที่ทำอยู่ ขณะที่อีก 3 ประเทศคือ อินเดีย รัสเซีย และตุรกี กำลังดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่รายงานฉบับนี้ระบุว่าเป้าหมายของทั้งสามประเทศนี้ยังต่ำเกินไปที่จะช่วยโลก