ผลการศึกษาล่าสุด พบธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยกำลังละลายอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยน้ำแข็งละลายปีละฟุตครึ่ง เท่ากับน้ำปริมาณนับ 8 พันล้านตัน ชี้ปัจจัยสำคัญทำโลกร้อนขึ้นจากเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
เมื่อ 20 มิ.ย.62 เว็บไซต์ นิวยอร์กไทม์ส รายงานสถานการณ์ ‘โลกร้อน’ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กำลังทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ละลายเร็วกว่าเดิมอย่างน่าตกใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ด้านล่างหลายร้อยล้านคน โดยรายงานการศึกษาวิจัยล่าสุด ของทีมนักวิจัยของ Lamont-Doherty Earth Observatory มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Science Advanced โดยได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เป็นระยะเวลา 40 ปี แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ละลายเฉลี่ยปีละฟุตครึ่ง มาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว
ตามรายงาน ระบุว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยมีการละลายเร็วที่สุดในขณะนี้เมื่อเทียบกับช่วง 25 ปีก่อน โดยในช่วง 2-3 ปีมานี้ ธารน้ำแข็งได้หายไป คิดเป็นปริมาณน้ำถึงปีละประมาณ 8,000 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานการแข่งขันโอลิมปิกจำนวนถึง 3.2 ล้านสระ
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว ทีมนักวิจัยของ Lamont-Doherty Earth Observatory ได้ทำการวิเคราะห์ ภาพถ่ายดาวเทียม ธารน้ำแข็ง 650 แห่ง บนเทือกเขาหิมาลัย รวมทั้งยังได้วิเคราะห์จากดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐฯ จากนั้น ทีมวิจัยได้นำภาพเหล่านั้นมาทำเป็นโมเดล 3-D ซึ่งแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่และปริมาณของธารน้ำแข็งที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-2000 ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยได้ละลาย หายไปปีละ 10 นิ้วทุกปี และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อัตราการละลายของธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นสองเท่า เป็นปีละ 20 นิ้ว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และขณะนี้ อุณหภูมิโลกได้สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับ 150 ปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าปลายศตวรรษนี้ อุณหภูมิโลกจะสูงถึงระหว่าง 3-5 องศาเซลเซียส