ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเป็นประเทศเสี่ยงภัยธรรมชาติมากที่สุด ทั้งแผ่นดินไหว และสึนามิ แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการเตรียมรับมือดีที่สุด แต่เหตุใด เมื่อเผชิญกับฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ จึงทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตอย่างน่าตกใจ ล่าสุดเพิ่มถึงหลักร้อยแล้ว จนทำให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ตัดสินใจเตรียมลงพื้นที่ประสบภัยในวันพุธนี้ แทนบินไปเยือน 4 ประเทศตามกำหนด
สำนักข่าวเอเอฟพี รวบรวมว่ามีอย่างน้อย 5 ปัจจัยประกอบกันที่ทำให้ภัยพิบัติจากฝนตกครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
ฤดูมรสุม-ปริมาณฝนมากเป็นประวัติการณ์
ฝนตกหนักและลมกระโชกแรงมาพร้อมกับการเข้าสู่ฤดูไต้ฝุ่น แต่ละปี ญี่ปุ่นจะเจอพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ย 6 ลูก ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม หรือพฤศจิกายน กรมอุตุนิยมวิทยาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลติดตามสภาพอากาศใกล้ชิด และดำเนินมาตรการถาวรเพื่อป้องกันการสูญเสียในชีวิต รวมถึงเขื่อนและการควบคุมน้ำท่วม กระนั้น ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากฝนตกหนักแทบทุกปี แต่ปีนี้เป็นฝนกระหน่ำแบบไม่เคยเจอมาก่อน ปริมาณน้ำฝนในช่วง 72 ชั่วโมงถึงวันอาทิตย์ วัดที่สถานีตรวจสภาพอากาศ 118 จุดทั่วพื้นที่ประสบภัย อยู่ในเกณฑ์ทุบสถิติ
ภูมิประเทศที่ซับซ้อน
ที่ดินราว 70% ในญี่ปุ่นเป็นภูเขาและเนินเขา การสร้างบ้านเรือนมักอยู่บนทางลาดภูเขา หรือบนที่ราบที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ ฮิโรยุคิ โอโนะ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมทรายกัดเซาะและดินถล่ม กล่าวว่าสภาพดินมีความหลากหลายทางธรณีวิทยา แผ่นเปลือกโลกและโครงสร้างธรณีวิทยาภูเขาไฟ หรือดินอ่อนนั่นเอง อันที่จริง รัฐบาลมีโครงการระยะยาวกระตุ้นประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ย้ายออก กระทั่งสั่งห้ามก่อสร้างใหม่ในพื้นที่เปราะบาง แต่โครงการนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งหมายความว่า คนจำนวนมากยังอยู่ในพื้นที่อันตราย
บ้านไม้
บ้านเรือนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสร้างด้วยไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านสไตล์ดั้งเดิมที่ยังแพร่หลายในชนบท รากฐานของบ้านก็ทำด้วยไม้ ซึ่งยืดหยุ่นได้ดีเวลาเกิดแผ่นดินไหว แต่มีโอกาสน้อยมากจะทนแรงกดดันจากกระแสน้ำ หรือดินสไลด์ได้ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีบันทึกภาพบ้านหลายหลังที่พังแยกจากชั้นล่าง ไหลไปกับดินโคลน บางส่วนถูกซัดพังเคลื่อนออกจากที่ตั้งเดิมไปทั้งหลัง
คำสั่งอพยพ
ทางการญี่ปุ่นออกคำสั่งอพยพประชาชนราว 5 ล้านคน ในช่วงฝนตกหนักสุด แต่ไม่ใช่การบังคับต้องปฏิบัติตาม และคนจำนวนมากเลือกมองข้าม ฮิโรทาดะ ฮิโรเสะ ผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า มนุษย์มีทัศนคติที่เรียกว่า normalcy bias หรือชอบคิดว่าไม่มีอะไรหรอก จึงไม่พยายามอพยพ เพิกเฉยคำเตือน ไม่สนข้อมูลเชิงลบ “ธรรมชาติแบบนี้ทำให้คนไม่มีปฏิกริยาสนองตอบกับภัยพิบัติอย่าง ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งจะเกิดแบบไม่มีเวลาตั้งตัว”
อีกด้าน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าระบบการเตือนภัยญี่ปุ่นยังมีปัญหา บ่อยครั้งให้การตัดสินใจอพยพเป็นอำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่อาจไม่มีประสบการณ์จัดการภัยพิบัติมากพอ การรีรอออกคำสั่งอพยพอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้า และหากออกในช่วงดึก อาจไม่มีใครได้ยินเลยก็ได้
ไคลเมทเชนจ์
ชาวญี่ปุ่นอาจเข้าใจผิดๆ หลังจากสภาพอากาศที่เคยเจอหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าร้ายแรง แต่ก็ไม่เคยเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงนิ่งนอนใจ คราวนี้คนจำนวนมากในพื้นที่ประสบภัย พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นฝนตกหนักแบบนี้มาก่อนเลย
นักวิทยาศาสตร์เตือนมานานว่า เมื่อโลกร้อนขึ้น ความถี่ของภัยพิบัติเกี่ยวข้องกับฝน จะเพิ่มสูงขึ้นมาก โอโนะ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมทรายกัดเซาะและดินถล่ม กล่าวว่า เรากำลังเผชิญกับโลกที่กฎการเรียนรู้จากประสบการณ์ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ประชาชนควรอพยพล่วงหน้าตามคำสั่ง เมื่อใดก็ตามที่มีพยากรณ์อากาศเตือน