ชาวประมงชิลีฉวยโอกาสตามจับปลาแซลมอนหลุดออกมาจากฟาร์มนับแสนตัว หลังพายุพัดถล่มสัปดาห์ที่แล้ว นำมาขายราคาถูก ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงนำไปรับประทานเพราะอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
พายุที่พัดถล่มเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้บ่อเลี้ยงปลาแซลมอน 9 แห่ง ที่ฟาร์มของบริษัทมารีน ฮาร์เวสต์ (Marine Harvest) ผู้ผลิตปลาแซลมอนรายใหญ่ที่สุดในโลก ในเมืองกัลบูโก (Calbuco) ทางตอนใต้ของประเทศ เกิดความเสียหาย ส่งผลให้ปลาแซลมอนหลุดออกมาอย่างน้อย 6 แสนตัว
ชาวประมงในพื้นที่ฉวยโอกาสนี้ พากันจับปลาแซลมอนที่หลุดออกมา ก่อนจะนำมาขายในราคาที่ถูกกว่าปกติมาก จนทำให้ประชาชนแห่ซื้อกันจำนวนมาก
ขณะที่ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตือนว่า ปลาแซลมอนดังกล่าวไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เนื่องจากโดยปกติปลาแซลมอนจำหน่วยจะถูกฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค ซึ่งมีโอกาสตกค้างอยู่ในปลาที่หลุดออกไป ก่อนถึงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจำหน่าย
แต่บริษัทมารีน ฮาร์เวสต์ ก็ออกมายืนยันว่า ยาปฏิชีวนะที่ฉีดในแซลมอนที่หลุดออกไปนั้น มีความเสี่ยงน้อยที่จะทำให้เกิดการต่อต้านในมนุษย์
แต่ไม่ว่าอย่างไร บริษัทมารีน ฮาร์เวสต์ มีหน้าที่ที่ต้องเร่งตามจับปลาแซลมอนที่หลุดออกไปกลับมา ซึ่งทางการชิลีได้ให้เวลา 30 วัน สำหรับการตามจับ และ 10 วัน สำหรับชี้แจงว่าปลาแซลมอนหลุดออกมาได้อย่างไร รวมถึงเสนอแผนฉุกเฉินในการติดตามตัวยาที่ฉีดในปลาแซลมอนด้วย
ทั้งนี้ จนถึงวันพฤหัสที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งจะจับปลาแซลมอนที่หลุดออกไปกลับมาได้เพียง 3 หมื่นตัว ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถจับกลับมาทั้งหมดได้ตามเวลาที่กำหนด ก็อาจถูกปรับเป็นเงินสูงสุดกว่า 7 ล้านบาท หรืออาจถูกถอนใบอนุญาตประกอบการฟาร์มดังกล่าว