สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) เปิดเผยรายงานการตรวจพบพายุฝุ่นขนาดใหญ่บนดาวอังคาร ที่อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้อ้างอิงในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศบนโลกได้
นายริช ซูเร็ค หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน ( เจพีแอล ) ในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 42 ปีที่องค์การนาซาทำการวิจัยปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ด้วยการอาศัยข้อมูลทั้งจากสิ่งแวดล้อมบนระบบสุริยะ และจากสถานีวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศบนพื้นโลก
ทั้งนี้ ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า พายุฝุ่นยักษ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นบนดาวอังคารมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2544 และ 2550 ทว่าประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ แม้มวลพายุฝุ่นจะครอบคลุมพื้นที่บนดาวอังคารเป็นบริเวณกว้าง ทว่ากลับไม่มีการขยายตัวอีก ซึ่งต่างจากพายุฝุ่นโดยทั่วไปบนโลกที่สามารถทวีกำลังแรง และขยายตัวจนปกคลุมพื้นที่ได้เป็นบริเวณกว้าง
รายงานฉบับล่าสุดขององค์การนาซา เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ระบุยานลาดตระเวนบนดาวอังคารขององค์การนาซา ( เอ็มอาร์โอ ) สามารถตรวจจับมวลความร้อนในรัศมี 25 กิโลเมตร จากระดับสูงสุดของพายุฝุ่น ที่ทำให้อุณหภูมิในบริเวณโดยรอบเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 25 องศาเซลเซียส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่อนุภาคของฝุ่นถูกพัดลอยขึ้นไปดูดซับแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยานเอ็มอาร์โอยังตรวจจับการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิบริเวณ “จุดร้อน” ในแถบละติจูดทางตอนเหนือของดาวอังคารด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นการดีที่มวลพายุฝุ่นไม่เคยเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ยานหุ่นยนต์สำรวจ “ออพพอร์จูนิตี” ขององค์การนาซา ที่ขึ้นไปประจำการบนดาวอังคาร เมื่อปี 2547 ในรัศมี 1,344 กิโลเมตร เนื่องจากหากมวลพายุฝุ่นเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ตัวยานกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของยาน ที่อาศัยพลังงานจากแสดงอาทิตย์เป็นหลัก
ยานหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร “คิวริออสซิที” ที่ปฏิบัติหน้าที่บนดาวเคราะห์แดงตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. โดยปัจจุบันปักหลักอยู่ห่างจากยาน ออพพอร์จูนิตี คนละด้านของดาวอังคาร สามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิอากาศบนดาวอังคาร ที่อาจมีสาเหตุจากพายุฝุ่นได้เช่นกัน โดยรายงานจากหุ่นยนต์สำรวจระบุความดันอากาศในบริเวณรอบตัวยานลดต่ำลง และอุณหภูมิช่วงกลางคืนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
Credit: http://www.dailynews.co.th