ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พายุโซนร้อนลูกใหม่ก่อตัวขึ้นที่บริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในต้นสัปดาห์นี้ และต่างไปจากพายุลูกอื่นๆ ที่พัดเข้าทะเลจีนใต้ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมักจะอ่อนกำลังลง แต่พายุโซนร้อนเซินตีง (Sơn Tinh) มีแนวโน้มที่จะทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 ในวันสองวันข้างหน้า
ไต้ฝุ่นเซินตีงจะยังแรงไม่หยุดเมื่อพัดเข้าถึงชายฝั่งเวียดนาม ทะลุทะลวงเข้าดินแดนลาว ภาคอีสานตอนบน และอาจจะรวมถึงเขตป่าต้นน้ำในภาคเหนือตอนบนของไทยวันที่ 29 ต.ค.นี้ ขณะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และดีเปรสชันตามลำดับ
ในวันพฤหัสบดี 25 ต.ค. พายุเซินตีงพัดกระหน่ำเข้าสู่ตอนกลางของฟิลิปปินส์ทำให้เกิดฝนตกหนัก และท้องทะเลปั่นป่วนในเขตวิซายาส (Visayas) หรือหมู่เกาะภาคกลางของประเทศ และกำลังมุ่งหน้าเข้าทะเลจีนใต้
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย เช่นเดียวกับหน่วยงานความเสี่ยงจากภายุโซนร้อน หรือ Tropical Storm Risk ในกรุงลอนดอน เชื่อว่าไต้ฝุ่นชื่อเวียดนามลูกนี้กำลังจะทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 ในวันศุกร์ ขณะเคลื่อนเข้าทะเลจีนใต้ และมีแนวโน้มที่จะถึงชายฝั่งภาคกลางเวียดนามย่านนครด่าหนัง (Đà Nẵng) ในวันเสาร์นี้
แผนภูมิพยากรณ์ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ที่ออกในเช้าวันพฤหัสบดีนี้ แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นเซินตีง พัดทะลวงเข้าสู่แขวง (จังหวัด) คำม่วน และกับแขวงบอลิคำไซของลาวในวันเสาร์ ทั้งยังแจ้งเตือนให้ฝ่ายต่างๆ ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับเส้นทางของไต้ฝุ่นลูกนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตามแผนภูมิพยากรณ์ของศูนย์เตือนภัยใต้ฝุ่น หรือ Joint Typhoon Warning Center ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ออกในเช้าวันพฤหัสบดีนี้ แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นเซินตีง พัดขึ้นเหนือเข้าฝั่งเวียดนามที่ จ.นีงบี่ง (Ninh Bình) และพัดผ่านรอยต่อชายแดนเวียดนาม-ลาวในวันจันทร์ 29 ต.ค. ก่อนจะสลายไปในมณฑลหยุนหนันของจีน
ถ้าหากเป็นไปตามนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และภาคเหนือของลาวก็จะได้รับผลกระทบน้อยลง
สำหรับเวียดนาม เซินตีงเป็นพายุลูกที่ 8 ที่พัดเข้า “ทะเลตะวันออก” ในปีนี้ มันกำลังจะทำให้ทะเลปั่นป่วน เกิดคลื่นลมแร งและเป็นอัตรายอย่างยิ่งต่อเรือหาปลาใหญ่น้อย
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ได้แจ้งเตือนให้จังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ตั้งแต่ จ.เถื่อเทียนเหว (Thừa Thiên Huế) ลงไปจนถึงภาคกลางตอนล่าง จ.บี่งทวน (Bình Thuận) เตรียมรับมือกับลมแรง และฝนตกหนักตั้งแต่บ่ายวันศุกร์นี้เป็นต้นไป
“เซินตีง” เป็นเทพแห่งขุนเขาในนิทานเกี่ยวกับต้นกำเนิดฤดูมรสุมของเวียดนาม ในนิทานดังกล่าวเซินตีงต้องใช้อิทธิฤทธิ์นานัปการต่อสู้กับ “ถวีตีง” (Thủy Tinh) เทพแห่งสมุทร ที่หลงรักหญิงคนเดียวกัน นั่นก็คือ เจ้าหญิงมิเนือง (Mị Nương) พระราชธิดาผู้เลอโฉมของกษัตริย์หุ่งเวือง (Hùng Vương) แห่งอาณาจักรเวียดนามในครั้งโบราณกาล
ถวีตีงไม่ยอมแพ้ ถึงแม้พระมหากษัตริย์จะยกเจ้าหญิงให้แก่เซินตีงไปแล้วก็ตาม เทพแห่งสมุทรได้ระดมไพร่พล และใช้อิทธิฤทธิ์ประดามี รวมทั้งคลื่นลมแรง เข้าโจมตีหวังทำลายล้างฝ่ายเทพแห่งขุนเขา การสู้รบดำเนินไปหลายยก ไม่มีฝ่ายแพ้ชนะและกลายเป็น “ศึกชิงนาง” ที่ยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้
ในเดือนเดียวกันของทุกปี “ถวีตีง” จะนำกองทัพเข้าโจมตีเทพแห่งขุนเขา ซึ่งกลายเป็นที่มาของฤดูมรสุม
แต่ต่างไปจากในนิทานโบราณ .. ที่ “เซินตีง” เป็นฝ่ายต่อต้านพายุ วันนี้ไต้ฝุ่นเซินตีงกำลังข้ามทะเลจีนใต้มุ่งหน้าซัดเข้าฝั่งเวียดนามเสียเอง.
Credit: http://www.manager.co.th