สรุปผลการดำเนินงานในระยะแรก (พ.ศ. 2562)

Wednesday, 15 January 2020 Read 25639 times Written by 

d12020

1. ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่งในระดับพื้นที่

1) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในบริเวณโดยรอบประเทศไทยที่ผ่านมาทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำและข้อมูลจากดาวเทียมประเภทอัลติมิเตอร์ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลระดับท้องถิ่นในบริเวณใกล้เคียงกับประเทศไทย มีค่าอยู่ในช่วง 3.6-6.6 มิลลิเมตรต่อปี โดยระดับน้ำทะเลมีค่าสูงบริเวณอ่าวไทยตอนใน ซึ่งค่าที่ได้ใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในทะเลจีนใต้ 5-8 มิลลิเมตรต่อปี การศึกษาล่าสุดด้วยวิธีการวิเคราะห์ระดับน้ำแบบไม่เป็นเชิงเส้นและวิธีเชิงเส้นแบบมาตรฐานในบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน พบว่า อัตราเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเชิงสัมพัทธ์ในบริเวณชายฝั่งของประเทศไทยมีค่าประมาณ 6 มิลลิเมตรต่อปี โดยผลการศึกษา ยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเคลื่อนในแนวดิ่งของพื้นดิน มีส่วนอย่างมากต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเชิงสัมพัทธ์ในสเกลเล็กของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 มิลลิเมตรต่อปี หรือมากว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 5-10 เท่า พบที่สถานีตรวจวัดน้ำบริเวณใกล้ๆ กรุงเทพมหานครที่ซึ่งเป็นที่ที่มี การสูบน้ำบาดาลทำให้เกิดแผ่นทรุดอย่างสูง นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเชิงสัมพัทธ์ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกือบทุกสถานีตรวจวัดระดับน้ำหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว   สุมาตรา-อันดามัน โดยอัตราการเพิ่มในช่วงล่าสุด มีความแตกต่างเชิงพื้นที่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบ กับอัตราในอดีต แต่มีอัตราการเพิ่มประมาณ 20-30 มิลลิเมตรต่อปี เกือบทุกสถานี

 

ผลการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า พื้นที่ที่น้ำทะเลรุกล้ำมากที่สุด คือ พื้นที่ชายฝั่งตอนเหนือของอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน จะได้รับผลกระทบมากกว่าบริเวณชายฝั่งอื่นๆ ทั้งนี้ ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้น มีความรุนแรงอย่างชัดเจนในกรณีที่ไม่สามารถหยุดสูบน้ำบาดาลซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินทรุดอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษายังพบว่าพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับผลกระทบมากกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่ม โดยรวมแล้วพื้นที่บริเวณชายฝั่งตอนบนของอ่าวไทยรูปตัว ก ได้รับผลกระทบมากกว่าบริเวณอื่นๆ

 

2) การกัดเซาะชายฝั่ง ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีความยาวประมาณ 2,040 กิโลเมตร โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยทั้งชายฝั่งอันดามันและชายฝั่งอ่าวไทย นับเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจหลักของประเทศมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการนันทนาการและการท่องเทียวและที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของชุมชน ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย มีการบุกรุกทำลาย เปลี่ยนสภาพธรรมชาติในเกือบทุกพื้นที่ ส่งผลให้ความสมดุลตามธรรมชาติของชายฝั่งถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากกระบวนการกัดเซาะ ซึ่งมีสาเหตุหลักเกิดจากทั้งปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น คลื่น ลม กระแสน้ำ เป็นต้น และกิจกรรมของมนุษย์ดังกล่าวข้างต้น โดยชายฝั่งทะเลไทย ต้องประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่

 

การประเมินการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2495-2551 (56 ปี) พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลโดยถูกกัดเซาะประมาณ 830 กิโลเมตร นอกจากนี้ การศึกษาสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในช่วงระยะ 10 ปี (2546-2554) พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลโดยถูกกัดเซาะ จำนวน 282 พื้นที่ ระยะทางที่ถูกกัดเซาะประมาณ 652.2 กิโลเมตร ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะระดับวิกฤต มีจำนวน 44 พื้นที่ ระยะทางที่ถูกกัดเซาะประมาณ 166.43 กิโลเมตร ทั้งนี้    การกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งในทุกจังหวัดรอบอ่าวไทย จังหวัดที่มีพื้นที่ถูก       กัดเซาะมากกว่าอัตรา 5 เมตรต่อปี (จัดเป็นพื้นที่วิกฤต) ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส

 

จังหวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับที่แตกต่างกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะในจังหวัดเหล่านี้ ได้มีการดำเนินการจัดทำโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งรูปแบบต่างๆ

 

3) พายุซัดฝั่ง ระดับน้ำที่สูงขึ้นชั่วขณะบริเวณชายฝั่งหรือรู้กันในนามคลื่นพายุซัดฝั่งหรือสตอร์มเสิร์จ เป็นปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยามีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักแต่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่ง ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของระดับน้ำจากคลื่นพายุซัดฝั่ง ประกอบด้วย ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ความรุนแรงของพายุซึ่งบ่งชี้โดยความเร็วลมและความกดอากาศ เส้นทางและความเร็วในการเคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่งของพายุ ขนาดของพายุ เป็นต้น

 

ข้อมูลตรวจวัดที่ได้บันทึกโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มีพายุหมุนเขตร้อน จำนวน 189 ลูก เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงเวลา 64 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2494-2557) ประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนโดยเฉลี่ยแล้ว 3 ลูกต่อปี โดยพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด 189 ลูก จัดอยู่ในกลุ่มพายุดีเปรสชั่นเขตร้อน มีเพียง 14 ลูกเท่านั้น ที่จัดอยู่ในระดับพายุโซนร้อน และ 1 ลูก จัดอยู่ในระดับพายุไต้ฝุ่น ในช่วงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา ได้มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่บริเวณอ่าวไทย จำนวน 7 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อน VAE เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2495 พายุโซนร้อน HARRIET เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2505 พายุโซนร้อน RUTH เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2513 พายุไต้ฝุ่น GAY เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2532 พายุโซนร้อน Forrest เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2535 พายุโซนร้อน LINDA เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2540 และล่าสุด พายุโซนร้อน PABUK เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2562

 

การศึกษาคลื่นพายุซัดฝั่งที่ผ่านมาในกรณีที่พายุพัดผ่าน พบว่าคลื่นพายุซัดฝั่งในบริเวณโดยรอบเส้นทางพายุ มีระดับน้ำที่สูงขึ้น และพื้นที่ชายฝั่งใกล้เคียงมีความเสี่ยงต่อน้ำทะเลหนุนสูง ทั้งนี้ พื้นที่ชายฝั่งที่มีธรณีสัณฐานในลักษณะปิดกั้นการไหลของน้ำ จะทำให้เกิดการสะสมตัวของน้ำได้ง่าย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูง อาทิเช่น อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อ่าวแหลมงอบ จังหวัดตราด และพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดชุมพร เป็นต้น กรณีของพายุโซนร้อน Pabuk พบว่า ส่งผลให้ความสูงของคลื่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเพิ่มขึ้นในช่วง 1-5 เมตร ทั้งนี้ พื้นที่ชายฝั่งบริเวณจังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา พื้นที่เสี่ยงจากคลื่นพายุซัดฝั่ง ที่เกิดจากพายุโซนร้อน Pabuk

 

ความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ในอนาคต คาดว่าจะลดลงร้อยละ 20-44 โดยจำนวนพายุหมุนที่มีโอกาสเคลื่อนที่เข้าสู่อ่าวไทยในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม จะมีจำนวนลดลง แต่จำนวนพายุที่มีความรุนแรงสูงจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-9 เนื่องจากการระเหยและปริมาณไอน้ำที่มีมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงจะมีนัยสำคัญในช่วงปลายศตวรรษ

 

2. ข้อมูลความเสี่ยงและผลกระทบของชุมชนชายฝั่งอ่าวไทย จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่ง

จากการทบทวนรายงานทางวิชาการและเอกสารงานวิจัยจากแหล่งต่าง ๆ และจัดทำแผนที่ระดับตำบลแสดงพื้นที่เสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่งและพายุซัดฝั่งในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ครอบคลุม 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี      ซึ่งพื้นที่เสี่ยง คือ ตำบลที่ติดอยู่กับชายฝั่งในบริเวณโดยรอบพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก จำนวน 49 ตำบล ทั้งนี้ ระดับความเสี่ยงของหมู่บ้านภายในแต่ละตำบล อาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับที่ตั้งของหมู่บ้านที่มีระยะทางห่างจากชายฝั่งมากน้อยเพียงใด อย่างเช่น ในกรณีที่หมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่ง ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง

 

โดยเมื่อทำการศึกษาข้อมูลจากการลงพื้นที่ประกอบแล้วพบว่าพื้นที่ 49 ตำบลมีระดับความเสี่ยงต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งสิ้น แต่ชุมชมในพื้นที่มีความสามารถในการปรับตัวรองรับปัญหาได้ดีพอสมควร ทั้งนี้ระดับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยสามารถสรุปภาพรวมของการศึกษาได้ ดังนี้

 

ผลการศึกษาความเสี่ยงของชุมชนพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่ง เป็นปัญหาที่ชุมชนในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ต่างได้รับผลกระทบเป็นอันมาก เพราะเป็นปัญหาที่ทำให้สูญเสียที่ทำกิน ขาดรายได้ และสร้างความเครียดความกังวลต่าง ๆ นานาให้กับชุมชน โดยที่ผ่านมารัฐบาลกลาง และราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้พยายามทดลองแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ และชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ มีความพยายามในการปรับตัวรองรับสภาพปัญหาดังกล่าว โดยสามารถประมวลผลการตั้งรับปรับตัวของชุมชนได้ ดังนี้

 

1) ปฏิทินฤดูกาล (Seasonal Calendar) จากการศึกษาพบว่า ทิศทางการไหลเวียนของลมเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น และมีผลในทางตรงกันข้ามกันระหว่างอ่าวไทยรูปตัว ก ในฝั่งตะวันออกและตะวันตก กล่าวคือ เมื่อทิศทางของลมพัดจากฝั่งตะวันออกไปสู่ฝั่งตะวันตก จะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกมากยิ่งขึ้น และเมื่อลมพัดจากฝั่งตะวันตกไปสู่ฝั่งตะวันออก การกัดเซาะชายฝั่งในฝั่งตะวันออกจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในพื้นที่ก้นอ่าวไทยในบริเวณกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม    จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหากมีลมมรสุมพัดเข้าในบริเวณภาคใต้ของไทย ส่งผลให้เกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยขึ้นสูง ทำให้พื้นที่ก้นอ่าวเกิดการกัดเซาะเพิ่มสูงขึ้น ในปัจจุบันทิศทางของลมมีความแปรปรวนมากทำให้ข้อมูลในการกำหนดปฏิทินฤดูกาลในภาพรวมของอ่าวไทยรูปตัว ก    ทำไม่สมบูรณ์นัก ชุมชนส่วนใหญ่ให้ข้อมูลในลักษณะทั่วไป ซึ่งมักจะมีความผันผวนในแต่ละปีที่แตกต่างกัน

 

2) การจัดลำดับความสำคัญของภัยพิบัติทางภูมิอากาศ (Climatic Hazard Ranking) จากการศึกษาภาพรวมของการจัดลำดับความสำคัญของภัยพิบัติทางภูมิอากาศ (Climatic Hazard Ranking) ของชุมชนในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก พบว่า ชุมชนให้ความสำคัญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเป็นปัญหาที่ชุมชนได้รับผลกระทบในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนสูญเสียที่ทำกินของตนเองไปแล้วจำนวนมาก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียเพิ่มเติมอีกในอนาคตหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากนั้น การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์ทะเลส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำในวังกุ้งวังปลา มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยชุมชนดั่งเดิมมักมีอาชีพทำการเกษตรและการประมงที่พึ่งพิงธรรมชาติ ย่อมได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

รองลงมาคือ ปัญหาการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาในด้านผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน อันเกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นแหล่งอาหารของประเทศ ถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเพื่อการอุตสาหกรรม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีง่ายต่อการจัดทำระบบขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ จึงเกิดการปรับเปลี่ยนใช้พื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมมากขึ้น การย้ายถิ่นของแรงงานเข้าสู่พื้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขวางทางน้ำ และลุกล้ำเข้าไปในทะเล รบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำ ตลอดจนการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคการเกษตร กับภาคเมืองและอุตสาหกรรม ส่งผลให้สมดุลการจัดการน้ำของระบบนิเวศเสียไป ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งที่   เพิ่มสูงขึ้น

 

3. แนวทางการปรับตัวของชุมชนชายฝั่งต่อการการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่ง

1) การปรับตัวระดับปัจเจก โดยทำการย้ายสถานที่ประกอบอาชีพ การย้ายที่พักอาศัย ถอยจากแนวชายฝั่งทะเลที่ลึกเข้ามา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นการทิ้งหินทำแนวป้องกันการกัดเซาะ ซึ่งเป็นการลงทุนสูง และยังไม่สามารถป้องกันปัญหาได้อย่างเด็ดขาด

 

2) การปรับตัวในระดับชุมชน เป็นการปรับตัวที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันทำกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่งด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมมือกันระดมทุนเพื่อจัดทำแนวไม้ไผ่ และการปลูกป่าชายเลน นอกจากนั้นยังมีบางพื้นที่เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อทำอาชีพเสริม ปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือสร้างรายได้ชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่ง

 

3) การปรับตัวในระดับการดำเนินงานของภาครัฐ โดยการทำแนวไม้ไผ่และเสาไฟฟ้าชะลอคลื่นและช่วยในการดักจับตะกอน ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ใช้งบประมาณ กำลังคนและเครื่องจักรในการดำเนินการ ชุมชนไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง

 

 

 

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank