ประเทศไทยร้อนขึ้น รู้หรือไม่ ใครลำบาก

Wednesday, 02 January 2019 Read 1167 times Written by 

syn13

 

ประเทศไทยร้อนขึ้น รู้หรือไม่ ใครลำบาก

                    เราน่าจะเคยสังเกตเห็นว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่เห็นชัดคือ สภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งในการผลิตอาหารเลี้ยงพลโลก ทั้ง ๆ ที่เรามีวิทยาการก้าวหน้า เช่น ถ้าจะทำไร่ทำนา เราก็มีตัวช่วยตั้งแต่รถไถรถดำนาไปจนถึงปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ถ้าจะจับปลาในทะเล เรามีเรือลำใหญ่แล่นไปได้ไกล ๆ มีเรดาร์ มีอุปกรณ์จับปลาทันสมัย มีกระทั่งห้องเย็นเก็บปลา แล้วทำไมการทำเกษตรกรรมจึงยังคงมีปัญหา การทำประมงจึงยังยากลำบาก ได้ข้าวได้ปลาไม่พอกิน ซ้ำสุขภาพของผู้คนก็ยังไม่ดี ส่วนหนึ่งของคำตอบก็คือ เพราะอุณหภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป จากร้อนธรรมดาเป็นร้อนจัด

          การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อมีก๊าซนี้มากเกินก็ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้โดยการดูดซับความร้อนในบรรยากาศ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกซึ่งวัดที่ใกล้พื้นผิวดินเพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส ในช่วง ค.ศ.1880-2012

          เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดและต่ำสุดรายวันจากสถานีตรวจวัดอากาศ 65 แห่งทั่วประเทศไทย ระหว่าง ค.ศ.1970 ถึง ค.ศ. 2009 ก็เห็นว่ามีดัชนีระบุว่า สาเหตุของภัยธรรมชาติรุนแรงก็คือ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงโดยอุณหภูมิสูงขึ้นนั่นเอง

งานวิจัยนี้พบว่า อุณหภูมิใกล้พื้นผิวดินของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญในช่วง 40 ปีมานี้ โดย อุณหภูมิอากาศสูงสุด เฉลี่ยและต่ำสุดเพิ่มขึ้น 0.96, 0.92 and 1.04 องศาเซลเซียส แต่ละช่วงสิบปีอุณหภูมิเพิ่มระหว่าง 0.16 ถึง 0.32 องศาเซลเซียส จำนวนวันที่อากาศเย็นจัดเวลากลางคืนและกลางวันลดลง 3.0 และ 2.0 วันต่อสิบปี ตามลําดับ ส่วนจำนวนวันอากาศร้อนจัดเวลากลางคืนและกลางวันเพิ่มขึ้น 3.6 และ 3.4 วันต่อสิบปี ตามลําดับ แนวโน้มดัชนีอุณหภูมิของประเทศไทยสอดคล้องกับแนวโน้มดัชนีอุณหภูมิของประเทศอื่น ๆ ในเครือข่ายเอเชีย-แปซิฟิก และสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นในช่วงหลายทศวรรษมานี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลของการขยายเมือง และอิทธิพลของ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ด้วย ทว่า ยังจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก จึงจะระบุสาเหตุการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของประเทศไทยให้แน่ชัดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศข้างต้น ควรแปลผลด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิต่ำสุดในเวลากลางคืน เพราะว่า อิทธิพลจากโดมความร้อนที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในเมืองซึ่งส่งผลต่อตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศใกล้พื้นผิวที่ตรวจวัดได้จากสถานีตรวจวัดอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งตั้งอยู่ใกล้หรือภายในพื้นที่ที่กลายเป็นเมืองและมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในเวลากลางวันเมืองสะสมความร้อนในเวลากลางวันจากสิ่งปลูกสร้างและการใช้พลังงานในเมืองและคายความร้อนในในช่วงเวลากลางคืน รวมถึงการเปลี่ยนวิธีการคำนวณอุณหภูมิเฉลี่ยด้วย

          ถ้าดูเพียงตัวเลขที่ระบุว่า อุณหภูมิเพิ่มขึ้น วันอากาศร้อนจัดเพิ่มขึ้นไม่กี่วัน วันอากาศเย็นจัดลดลงไม่กี่วัน ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหญ่ แต่ตัวเลขเหล่านี้สัมพันธ์กับการเกิดภัยธรรมชาติ อย่างมหาอุทกภัย ค.ศ. 2011 การที่ผลผลิตทางการเกษตรลดลง การใช้พลังงานและน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย

          ถ้าถามว่า สถิติเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดำเนินชีวิตของเรา เรื่องนี้แทบไม่ต้องตอบ คนส่วนใหญ่ยังจำความยากลำบากเมื่อครั้งมหาอุทกภัย ค.ศ. 2011 ได้ การที่ผลผลิตทางการเกษตรลดลงก็หมายความว่า เราต้องจ่ายแพงกว่าเดิม เพื่อซื้อผักจำนวนเท่าเดิม เมื่ออากาศร้อนจัดจนต้องเปิดพัดลม เปิดแอร์ ก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่ม ฯลฯ

          โลกตัวร้อนเป็นเรื่องน่าร้อนทั้งกายและใจ การศึกษาวิจัยเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในอดีตถึงปัจจุบันในทั่วทุกภาคของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก ประชาชนคนไทยควรรู้และควรตระหนักถึงเหตุและผลของปัญหาอย่างครบถ้วน เพื่อปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพให้พร้อมรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและผันผวน ซึ่งมีเหตุส่วนหนึ่งจากมนุษย์นั่นเอง จะได้อยู่ในโลกต่อไปได้โดยลดพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

อ้างอิง : Limjirakan, S., & Limsakul, A. (2012a). Observed Trends in Surface Air Temperatures and Their Extremes in Thailand from 1970 to 2009. Journal of the Meteorological Society of Japan, 90(5), 647-662.

Photo by DW

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank