กรุงเทพฯ ใหม่ นโยบายผู้ว่าคนใหม่

Saturday, 15 September 2012 Read 1421 times Written by 

15 09 2012 4-4

กรุงเทพฯ ใหม่ นโยบายผู้ว่าคนใหม่ โดย ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์

โดย ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ และ ทีมงาน  Aloud Bangkok

ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และการเกิดภัยพิบัติ (Disaster) นั้นมิอาจจะแยกขาดออกจากกันได้ โดยเฉพาะการหาแนวทาง “การลดความเสี่ยง” (risk reduction) ของชุมชนเมืองขนาดใหญ่เพื่อรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานครกำลังจะเวียนมาบรรจบครบรอบ 1 ปีในอีกไม่ช้า

และอีกแค่เพียง 5 เดือน ชาวกรุงเทพฯ ก็จะได้ใช้สิทธในฐานะพลเมืองในการเลือกผู้ว่าฯ อีกครั้งแน่นอน หน้าที่ของคนที่จะมาบริหารมหานครในฐานะผู้ว่าฯ  มีมากมาย หากเราเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเองดี เราย่อมเลือกคนที่มีวิสัยทรรศน์และมีความรับผิดชอบในการบริหารเมืองด้วยนโยบายที่สร้างสรรค์และยั่งยืน และรับผิดชอบต่อนโยบายที่ประกาศ ในยามที่หาเสียงเอาไว้ และในการหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้ ผู้ลงสนามเลือกตั้ง คงจะหนีไม่พ้น คำถามยอดนิยมในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาท่วม

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านนั้น ได้สร้างคำถามกินใจต่อผู้บริหารเมือง และ ประเทศ และคงจะต้องตอบคำถามกันไปอีกระยะหนึ่ง เพราะคงไม่มีใครอยากจะรับมือกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่อย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 อีกแล้ว ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ดังนั้นการคาดการณ์ “ความเสี่ยง”  (risk) จึงเป็นเรืองที่มีความไม่แน่นอน (uncertainty)

หากนำเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อสร้างแนวทางการลดความเสี่ยงของ กทม. นั้น นอกจากข้อถกเถียงเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้วอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือสื่อสารเพื่อให้ประชาชนได้เสพข่าวสารอย่างมีสติ และเท่าทัน เพื่อลดความเสี่ยงและความโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นยามวิกฤติ

สถานการณ์ภัยพิบัติมักจะถูกนำเสนอในรูปแบบของ “ข่าวด่วน” ไม่ว่าจะเป็นเพราะพื้นที่ข่าวที่จำกัด หรือวัฒนธรรมของการนำเสนอข่าวของคนไทยก็ตาม ใจความสำคัญของภัยพิบัติมักจะถูกมองข้ามบนพื้นที่ข่าวซึ่งใจความสำคัญทางหลักการได้ถูกลดทอนลงอย่างน่าเสียดาย หากเราสามารถรับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง (facts) เราก็จะสามารถรับข่าวสารภัยพิบัติอย่างมีสติ มากกว่าการเสพข่าวบนความหวาดกลัว

เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ขออนุญาติทำความเข้าใจกับผู้อ่านว่า แม้ในประเทศไทย จะยังไม่มีการศึกษาว่าการเกิดน้ำท่วมทุกครังที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงมากนักแต่ข้อมูลจากงานวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) พบว่าในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อภาวะฝนตกหนัก เพิ่มมากขึ้น เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมามีปริมาณฝนรวมรายปีและความแรงของฝนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ความแรงของฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แนวโน้มดังกล่าวได้รับอิทธิพลอย่างมากจากระบบลมมรสุมเอเชียและปรากฏการณ์เอลนิโญ-ลานิญา

เมื่อมองอนาคต ผลจากแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยแสดงให้เห็นว่าปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความยาวของฤดูฝนจะยังคงเดิมหรือมีโอกาสที่จะหดสั้นลง นั่นอาจหมายความว่า ความแรงของฝนจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่มากับฝนที่ตกหนักมีแนวโน้มมากขึ้น

โดยสรุปการที่โลกร้อนขึ้นเพราะมีก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากขึ้นนั้น ส่งผลให้ความรุนแรงของฝนเพิ่มมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในคราวเดียวกันมีแนวโน้มมากขึ้น

ซึ่งความรุนแรงของฝนที่ตกในแต่ละครั้งผนวกกับการจัดการน้ำเพื่อตั้งรับในแต่ละพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสในการเกิดน้ำท่วม ซึ่งในปัจจุบันมีงานศึกษาและวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยพิบัติถี่ขึ้นหรือรุนแรงมากขึ้น

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ชาวกรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงได้ประสบกับฝนตกหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับภาพเเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีที่แล้ว ที่ยังคงติดอยู่ในความทรงจำของผู้คน ทำให้ประเด็นภัยพิบัติได้ก้าวเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองอีกครั้ง

ดังที่เราได้เห็นกันบนหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สัมภาษณ์ว่าจะออกมาทดลองปล่อยน้ำเพื่อซ้อมรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติ การที่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อแนวทางของท่านรัฐมนตรีฯ ล้วนชี้ให้เห็นว่า ภัยพิบัติและการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน  ทั้งนี้เพราะว่าหน่วยงานของภาครัฐมีอำนาจและกลไกหลักในการที่จะบริหารและจัดการกับสถานการณ์ภัยพิบัติแบบองค์รวม

ทุกประเทศในโลกใบนี้ล้วนอาศัยอำนาจรัฐในการบริหารจัดการกับกลไกป้องกันบรรเทา รวมไปถึงเยียวยาผลกระทบ และการฟื้นฟูที่เกิดจากภัยพิบัติ การสื่อสารข้อมูลในแง่มุมต่างๆ ที่เท็จจริงสู่ประชาชนจึงมีความสำคัญมากต่อการช่วยลดความเสี่ยง และทำให้กลไกการจัดการภัยพิบัติของภาครัฐสัมฤทธิ์ผล

15 09 2012 4-5

รูปความสัมพันธ์ของเมืองและ แม่น้ำ หรือ คลอง

กรุงเทพมหานครตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบลุ่มต่ำของภาคกลางและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaopraya Delta) ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจากการตั้งถิ่นฐานที่เปิดรับกับปัจจัยทางธรรมชาติ หรือปัจจัยภายนอก เช่น น้ำหลาก น้ำทะเลหนุน อีกทั้งลักษณะทางกายภาพของเมืองมีความเปลี่ยนแปลงสูงมาโดยตลอด  นับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันมหานครแห่งนี้มี ลำคลองเป็นจำนวนมาก ทั้งลำคลองที่เคยเป็นส่วงหนึ่งของแม่น้ำเข้าพระยาเช่น คลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่ หรือที่มีชื่อเดิมว่าคลองบางหลวง ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่เชื่อมต่อหลายเขตของพื้นที่ฝั่งธนบุรี และลำคลองที่เกิดจากการขุดขยายด้วยพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่างๆ เพื่อเป็นคูเมืองป้องกันข้าศึก เพื่อแบ่งเขตที่ดิน เพื่อวางยุทธศาสตร์การปกครองหัวเมือง เพื่อเป็นเส้นทางการคมนาคม และเพื่อการชลประทานเป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเมืองเหล่านี้ เป็นไปเพื่อตอบรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในทุกครั้ง จึงถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นปัจจัยภายในที่ขยายผลความเสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนาเมืองเองที่เพิ่มความอ่อนไหวให้กับการเกิดภัยพิบัติ  กล่าวโดยสรุปได้คือ “ความเสี่ยง” ของ กทม. ต่อการเกิดภัยพิบัติมาจากปัจจัยภายนอก (ปริมาณน้ำฝน น้ำทะเลหนุน) และปัจจัยภายใน (การเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง) จากอดีต ปัจจุบัน ไปสู่อนาคตนั่นเอง

โลกเปลี่ยน เราปรับ (หรือยัง)

ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางแผนพัฒนาเมืองเพื่อการรับมือกับภัยพิบัติ การทำความเข้าใจเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับการทำความเข้าใจโครงสร้างและระบบเมืองแบบองค์รวม (city system) ที่มีความสัมพันธ์กันทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงแต่การศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเท่านั้น เพื่อสร้างแนวทางการลดความเสี่ยงของสังคมเมืองได้รอบด้าน (ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต)

ในส่วนของข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น จำเป็นต้องเข้าใจบริบทที่กว้างกว่า กทม. หรือแม้แต่ประเทศไทย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC)  ก่อตั้งโดยองค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2531 (เพื่อประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิชาการ และ เศรษฐกิจ-สังคม ที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนที่มีสาเหตุจากมนุษย์ มีผู้เชี่ยวชาญประมาณ 1,000 คนจากทั่วโลกที่มีส่วนร่วมในกระบวนการทบทวนรายงาน)

ดังนั้น IPCC ในฐานะ ตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะโลกร้อนทั่วโลก ระบุว่าภาวะโลกร้อนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น กำลังมีผลกระทบต่อพื้นผิวและชั้นบรรยากาศของโลก ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ และระบุว่า มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 2  องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม   เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักในพื้นที่ข่าวของโลกอีกครั้ง หลังจากที่ National Snow and Ice Data Center ได้เผย รายงานจากการวิจัยที่เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1979 ว่าพื้นที่ใน Arctic ได้หดตัวลงทำลายสติติของปี 2007 จากพื้นที่ 1.61 ตารางไมล์ ลดเหลือ 1.58 ตารางไมล์ และที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ น้ำแข็งขั่วโลกจะหยุดละลายในเดือน กันยายนของทุกปี ซึ่งถือเป็น ช่วงสิ้นสุดของฤดูที่น้ำแข็งขั่วโลกละลาย แต่ปริมาตรน้ำแข็งที่ละลายได้ทำลายสถิติปี 2007 มาเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 1 เดือนกว่าฤดูกาลละลายของน้ำแข็งใน Arctic จะสิ้นสุดลง นักวิทยาศาสตร์ได้ลงความเห็นตรงกันว่านอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว มนุษย์คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ ภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทวีความรุนแรงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร?

ทางกลุ่มผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีความ สับสนโดยเฉพาะในประเด็น “ภูมิอากาศ (Climate)” และ “สภาพอากาศ (Weather)” และความสับสนนี้ยังสืบเนื่องไปถึงเรื่องของ ความแปรปรวนหรือความผันผวน (Variability) ซึ่งสภาพอากาศในแต่ละปีย่อมมีความแตกต่างกันได้บ้างเป็นธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลง (Change)และความสับสนเหล่านี้ทำให้การผลักดันให้เกิดแรงขับเคลื่อนในสังคมต่อประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นไปได้ยาก

ภูมิอากาศ คือ สภาพโดยทั่วไปของลมฟ้าอากาศบนพื้นที่ใดๆ ในช่วงเวลานานๆ ซึ่งพิจารณาจากการตรวจอากาศซ้ำๆ กันหลายครั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 30-35 ปี (คำจำกัดความโดยกรมอุตุนิยมวิทยา) ทั้งนี้สภาพอากาศในแต่ละปีนั้นไม่ได้เหมือนกันทุกๆ ปี แต่เมื่อพิจารณาในห้วงเวลาที่นานพอสมควร ทำให้เราสามารถกำหนดลักษณะแบบแผนขึ้นได้ และเมื่อพูดถึง “การเปลี่ยนแปลง” ของ 2 ห้วงเวลา ซึ่งมักจะต้องเปรียบเทียบปัจจุบัน (อดีต-ปัจจุบัน) กับอนาคต เราจะต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งพื้นที่และห้วงเวลา (Space and Time) ทั้งในแง่ขนาดของการเปลี่ยนแปลง และความถี่ของเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะภาวะสภาพอากาศรุนแรงหรือภัยพิบัติ (Magnitude and frequency)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เป็นความท้าทายต่อสังคมไทยที่เราจะต้องให้ความสนใจร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อตอบโจทย์ระยะสั้นต่อความผันผวน ของสภาพภูมิอากาศ และระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเหล่านี้
 
ผลกระทบทางกายภาพจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเริ่มต้นที่จะตั้งคำถามว่า รัฐจะบริหารจัดการและมีแนวทางป้องกันน้ำท่วมอย่างไร แต่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กินความหมายมากกว่าน้ำท่วม อย่างที่อธิบายในข้างต้นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องมาจากความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ ผลที่ตามมาย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่นั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เอง เริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางภูมิอากาศต่างๆ เช่น สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและต่อเศรษฐกิจ อย่างน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา การเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม การเกิดพายุรุนแรง เป็นต้น

ย้อนกลับไปในช่วงเหตุการน้ำท่วมใหญ่ในปี 2555 การที่ภาคการเมืองเริ่มแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามกันเอง ถึงเรื่องการย้ายเมืองหลวง ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ผู้ที่ถูกเลือกตั้งมาจากประชาชนเริ่มหันมาตั้งคำถามดังๆ ในที่สาธารณะเกี่ยวกับการรับมือ เพราะประเด็นนั้นๆจะถูกหยิบยกเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนต่อบนพื้นที่สื่อสารในสังคม ไม่ว่าจะถูกหรือผิด แต่การเแลกเปลี่ยนจะทำให้เกิดการคิด และวิเคราะห์ และนำไปสู่คำตอบและบทสรุปที่ผ่านการถกเถียงด้วยเหตุและผลในที่สุด

ทั้งนี้การย้ายเมืองไปอยู่บนพื้นที่ๆ ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย กรุงเทพมหานครนั้นผ่านการพัฒนามากว่า 200ปี เมืองๆ หนึ่งไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เมืองหลวงของประเทศ นั้นล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบมากมายและหลากหลาย การที่เมืองๆ หนึ่งสามารถมีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ศูนย์กลางอำนาจการปกครองประเทศ ศูนย์กลางการสื่อสาร ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายศูนย์กลางทั้งหมดออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ อาศัยเวลา งบประมาณ กำลังคน มหาศาล เงินที่จะต้องใช้ไปเริ่มต้นใหม่ในพื้นที่อื่นๆ อาจจะมากกว่างบประมาณการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะประเทศไทย

แนวโน้มที่เราจะโยกย้ายทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นแทบจะมองไม่เห็น มากที่สุดก็อาจจะเป็นการย้ายที่ตั้งศูนย์กลางทางการเมือง ซึ่งดูแล้วก็มีความเป็นไปได้น้อย เพราะเรากำลังจะมีรัฐสภาแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  รวมไปถึงศูนย์ราชการที่เพิ่งจะขยายไปที่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างแจ้งวัฒนะ และ จังหวัดนนทบุรี ดูเหมือนว่าเราจำเป็นต้องยอมรับและตั้งต้นรับมือกับ ต้นทุนที่เรามีอยู่ “ปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต” และเดินไปด้วยกันจากสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันมาแล้วจาก วิกฤติอุทกภัยครั้งที่ผ่านๆ มา

การหาแนวทางที่จะอยู่กับความน่าสะพรึงกลัวของการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุและผลเป็นสิ่งจำเป็น การที่กรุงเทพมหานครเป็นมหานครชายฝั่งที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี  

ดังนั้น การมองภาพอนาคตว่า ในอีก 30 ปี กรุงเทพฯ จะพัฒนาไปเป็นเมืองอย่างไร กทม. จะมีหน้าที่อะไรในระดับประเทศและนานาชาติ แล้วจะรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างไร ภายใต้ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงโดยเฉพาะประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของ “มนุษย์” ทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ตลอดจนกระแสความสนใจด้านต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

แนวทางในการรับมือที่สำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการปรับตัว (adaptive capacity)  ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนัก ผ่านทางการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเพื่อเตรียมการรับมือความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภายใต้บริบทการเติบโตและพัฒนาเมืองในอนาคต

กรุงเทพฯ ใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะมี ผู้ว่าคนใดจะมาจับกทม. ใส่ตระกร้าล้างน้ำ ตกแต่งให้สวยงามแล้วเรียกเมืองๆนี้ว่ากรุงเทพในแบบใหม่ กรุงเทพฯ ใหม่ต้องมีศักยภาพที่จะเป็นต้นทางของการพัฒนาประเทศไทย เพราะมหานครแห่งนี้คือเมืองหลวงของประเทศ  นโยบายที่ดีจะสามารถทำให้กรุงเทพมหานครเป็นต้นทางของการพัฒนาในทุกๆมิติ

.................................................................................................................................................................................................

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าไปแลกเปลี่ยนได้ที่ เพจ Aloud Bangkok ใน facebook
http://www.facebook.com/aloudbangkok

Aloud Bangkok เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย Coastal Cities at Risk และ เป็นพื้นที่สื่อสารที่มุ่งเน้นการมองภาพอนาคตกรุงเทพฯ & แลกเปลี่ยนเรื่องโลกร้อนและน้ำท่วม ภายใต้สโลแกน "ปรับ รับ เสี่ยง" "ปรับตัว" เพื่อ "รับมือ" กับ "ความเสี่ยง" โดยจำลองภาพสถานการณ์ในอนาคต (Visioning Bangkok) ว่ากรุงเทพฯ จะสามารถพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง หรือทำหน้าที่ใดในสังคมระดับประเทศและภูมิภาค และหากกรุงเทพฯ เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมืองเองโดยเน้นประเด็นสังคม เรื่องคนเป็นหลัก รวมถึงตั้งคำถามให้ผู้สนใจได้รวมจินตนากากรุงเทพมหานครในอีก 30 ปี รวมถึงการรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนกระแสความสนใจด้านต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อคนเมือง ทั้งเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางวิธีการศึกษาและเป็นงานศึกษาชิ้นแรกของประเทศไทยที่ได้นำแนวทางการทำ visioning หรือการมองภาพอนาคตมาปรับใช้กับการสร้างแนวทางการรับมือ (adaptation) เพื่อลดความเสี่ยงของชุมชนเมืองขนาดใหญ่

ทีมงาน Aloud Bangkok ประกอบไปด้วย กลุ่มคนที่ทำงานวิชาการ ที่ต้องการสื่อสารกับสังคมและต่อยอดงานวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของมหานครชายฝั่งในการปรับตัวและรับมือความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภายใต้บริบทการเติบโตและพัฒนาเมืองในอนาคต โครงการวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบสหวิทยาการซึ่งครอบคลุมสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ บนความคาดหวังว่าในที่สุดแล้วพื้นที่เหล่านี้จะสามารถเป็นต้นทางในการสร้างความเข้าใจและสร้างแนวทางการปรับตัวให้กับทุกคนได้ในวงกว้างที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

Coastal Cities at Risk (CCaR): Building Adaptive Capacity for Managing Climate Change in Coastal Megacities
Case studies: Vancouver, Lagos, Manila and Bangkok
http://www.coastalcitiesatrisk.org/

งานวิจัยนี้สืบเนื่องมาจากการสนับสนุนทุนวิจัยเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ของ ศูนย์พัฒนาการวิจัยระหว่างประเทศ แห่งประเทศแคนาดา ร่วมกับสภาวิจัยของแคนาดาอีก 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิจัยสุขภาพแคนาดา สภาวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิศวกรรมแห่งประเทศแคนาดา และ สภาวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งประเทศแคนาดา ซึ่งได้สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้โครงการ “การริเริ่มงานวิจัยนานาชาติด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ให้แก่โครงการวิจัยทำการวิจัยเป็นระยะเวลา    5 ปี ตั้งแต่ปี 2554 - 2559 เพื่อศึกษาแนวทางในการป้องกันประชาชน ชุมชน และภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญของประเทศ ที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวจะศึกษาเมืองชายฝั่ง 5 เมือง ได้แก่ Vancouver, Lagos, Manila และ กรุงเทพมหานคร โดยมี ผศ.ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จากศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ Gordon McBean จากมหาวิทยาลัย Western Ontario ประเทศแคนาดา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และมี ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัยกรุงเทพฯ

Credit: http://www.matichon.co.th

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank