สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร

Wednesday, 29 August 2012 Read 1257 times Written by 

29 08 2012 8

คุณศุภกร ชินวรรโณ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ท้าทายสังคมโดยเป็นที่เข้าใจกันว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต รวมทั้งการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่น่าจะตกอยู่ใต้ความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงควรที่จะต้องมีการวางแผนและดำเนินการเพื่อให้สังคมได้ปรับตัวเพื่อให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงน้อยที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประเทศไทยมียุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ ตามมาด้วยการยกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๖๒ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ก็ได้กล่าวถึงประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไว้บ้าง นอกจากนั้นองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆหลายหน่วยงานก็พยายามผลักดันให้เกิดการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ดูเหมือนว่าจนถึงวันที่สังคมไทยก็ยังกล่าวไปไม่ถึงไหนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังเป็นเรื่องที่พูดกันในวงแคบๆในกลุ่มนักวิชาการเล็กๆหรือหน่วยงานของรัฐไม่กี่หน่วยงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนไม่กี่แห่ง เท่านั้นเอง

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของปัญหาต่อประเด็นนี้ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือ การขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการร่วมกันทั้งสังคมมากกว่าจะทีเป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เรื่องใหญ่ คือ สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ตรงกัน การกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่พูดกันในวงสังคมก็มักเป็นการพูดกันกว้างๆซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่า โลกจะร้อนขึ้น ๒ องศา หรือ ๓ – ๔ – ๕ องศา ซึ่งเป็นการพูดกันลอยๆในเชิงรูปธรรม (abstract) โดยไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงลงไป ทำให้สังคมแต่ละภาคส่วนหรือประชาชนในแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเชื่อมโยงประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้ากับบริบทของภาคส่วนหรือชีวิตของตนเองได้ การที่เรามักพูดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในลักษณะที่เป็นรูปธรรมคิดว่าเป็น “มหันตภัย”ในอนาคต โดยพูดกันในภาพกว้างๆหรือพูดกันเชิงของความรู้สึกมากกว่าจะอิงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ (อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยจะมีข้อมูล หรือข้อมูลที่พอจะมีอยู่บ้างก็ขาดการเผยแพร่ที่เหมาะสม) ดังนั้น พอจะคิดหาทางรับมือหรือปรับตัว ก็มองไม่เห็นว่าโจทย์นั้นคืออะไร

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคืออะไร จากการที่ทำงานด้านนี้มานานพอสมควร ผมพบว่าแม้ในกลุ่มแวดวงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ก็ยังมีความสับสนโดยเฉพาะในประเด็น “ภูมิอากาศ (climate)”และ “สภาพอากาศ (weather)” และความสับสนยังสืบเนื่องไปถึงเรื่องของ ความแปรปรวนและความผันผวน (variability) (สภาพอากาศในแต่ละปีย่อมมีความแตกต่างกันได้บ้างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว) และการเปลี่ยนแปลง (change) ความสับสนเหล่านี้ทำให้ในการหารือในประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายเวทีและในหลายโอกาสเกิดการ “พูดคนละเรื่องเดียวกัน”(คือ พูดกันคนละเรือง แต่นึกว่าพูดเรื่องเดียวกัน)หลายเรื่องที่ยกขึ้นมาหารือกันไม่ได้เข้าประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งการเข้าใจไม่ตรงกันนี้ ทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดแรงขับเคลื่อนในสังคมต่อประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นไปได้ยาก

ภูมิอากาศ คือ สภาวะโดยทั่วไปของลมฟ้าอากาศบนพื้นที่ใดๆในช่วงเวลานานๆ ซึ่งพิจารณาจากการตรวจอากาศซ้ำๆกันหลายครั้งเป็นระยะเวลานานประมาณ ๓๐ – ๓๕ ปี (คำจำกัดความโดยกรมอุตุนิยมวิทยา)ทั้งนี้สภาพอากาศในแต่ละปีนั้นไม่ได้เหมือนกันทุกปีๆแต่เมื่อพิจารณาในห้วงเวลาที่นานพอสมควร เราก็สามารถกำหนดลักษณะแบบแผนขึ้นได้ และเมื้อพูดถึง “การเปลี่ยนแปลง”ก็ต้องเป็นการเปรียบเทียบ “ภูมิอากาศ” ของ ๒ ห้วงเวลา ซึ่งมักจะต้องเปรียบเทียบปัจจุบัน (อดีต – ปัจจุบัน)กับอนาคต ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจต่อภูมิอากาศในอนาคตได้โดยจากพิจารณาถึงภาพฉายอนาคตที่เป็นผลจากการคาดการณ์โดยแบบจำลองคณิตศาสตร์ภายใต้สมมุติฐานหลายๆอย่าง โดยเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เราต้องตระหนักด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นในหลายแง่มุม การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจพูดถึงอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ๒ – ๓ – ๔ – ๕ องศา ดังที่มักจะพูดกันเสมอๆอาจไม่ได้บอกอะไรมากนัก  หากแต่ว่าเราต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งพื้นที่และห้วงเวลา (space and time)ทั้งในแง่ขนาดของการเปลี่ยนแปลงและความถี่ของเหตุการณ์ต่างๆโดยเฉพาะสภาพอากาศรุนแรงหรือภัยพิบัติ (magnitude and frequency)

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยนั้นการศึกษาที่ได้ดำเนินการมาบ่งชี้แนวโน้มซึ่งอาจกล่าวโดยรวมๆได้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วันที่ร้อนที่สุดในรอบปีจะร้อนมาก และที่สำคัญคือระยะเวลาที่จะมีอากาศร้อนในรอบปีจะยาวนานขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัดโดยฤดูหนาวจะหดสั้นลง พื้นที่ที่จะมีอากาศร้อนจัดจะแพร่ขยายขึ้นมาก อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะร้อนแต่ก็จัดว่าไม่แล้ง โดยปริมาณน้ำฝนหลายปีเพิ่มสูงขึ้น ฤดูฝนคงระยะเวลาประมาณเดิม แต่อาจมีการขยับเลื่อนของฤดูกาล (ลักษณะนี้อาจทำให้น่าน้ำจะมีน้ำมากโดยหน้าแล้งอาจจะแล้งจัด เพราะหน้าร้อนร้อนมากและร้อนนาน) ความผันผวนระหว่างฤดูและระหว่างปีเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลคงไม่ถึงขนาดน้ำท่วมฟ้าปลากินดาวจนต้องรีบไปซื้อที่อยู่บนภูเขา การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากการขยายตัวของมวลน้ำในมหาสมุทรประกอบความแรงของลมมรสุมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในบางฤดูกาลอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้หลายสิบเซนติเมตร ส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจะรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย โดยที่ยังคงมีความผันผวนระหว่างปีต่อปี ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง ๓๐ – ๕๐ ปีข้างหน้าเป็นต้นไป

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการท้าทายต่อสังคมไทยที่เราจะต้องให้ความสนใจร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อตอบโจทย์ระยะสั้นต่อการผันผวนของสภาพอากาศ และระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ภาคส่วนต่างๆจะต้องคิดถึงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เช่น การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน การว่างผังเมือง ควรจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้างถ้าหากน้ำท่วมหลากที่รุนแรงที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างประสบเมื่อปีที่แล้วจะเกิดบ่อยขึ้น หรือการท่องเที่ยวที่อาศัยธรรมชาติที่เหมาะสม เมื่อสภาพอากาศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจะทำอย่างไรการเกษตรซึ่งระบบเกษตรส่วนใหญ่ยังพึ่งน้ำฝนเป็นหลักควรจะต้องเตรียมการอย่างไร กลไกต่างๆที่มีในสังคมและกลยุทธต่างๆที่ประชาชนใช้จัดการกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศยังคงใช้ได้หรือไม่ในอนาคต ฯลฯ การแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมเพื่อตั้งโจทย์ให้คิดถึงเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคนจากหลายศาสตร์สาขา และทรัพยากรสนับสนุนที่ต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ประเทศไทยเรามีคนที่สนใจทำงานเรื่องนี้น้อยมาก

การพิจารณารับมือภัยพิบัติหรือสภาพอากาศแปรปรวนปีต่อปี หรือแม้แต่มองไปข้างหน้า ๓ ปี ๕ ปี คงจะไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ที่ท้าท้ายของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องก้าวไปให้ไกลกว่านั้นแล้ว โดยต้องคิดในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวให้มากขึ้นสังคมไทยต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ (insight) ถึงความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้จะต้องมีกลไกในการสื่อสารให้สังคมเกิดความเข้าใจที่เหมาะสมและเกิดความตระหนักถึงประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของตนเอง และการวางแผนนโยบายต่างๆในทุกระดับต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งในโอกาสหน้าจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไป

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank