ปริมาณฝนและพายุฝนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

Wednesday, 02 January 2019 Read 995 times Written by 

syn11

 

ปริมาณฝนและพายุฝนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

น้ำท่วมหรือฝนแล้ง อะไรจะดีกว่ากันคนไทยตั้งคำถามนี้มาหลายสิบแล้ว มีเหตุผลสนับสนุนทั้งสองฝ่าย เช่น ถ้าฝนแล้ง น้ำจะน้อยไม่พอใช้ ฝนชุก น้ำจะมากหรือท่วมก็ยังมีน้ำให้ใช้ น้ำในประเทศไทยมาจากฝน เกษตรกรไทยที่ต้องอาศัยน้ำทำไร่ทำนาทำสวนจึงต้องคอยลุ้นกันทุกปีว่า ปีนี้ฝนจะตกแค่ไหน จะมีน้ำพอใช้หรือเปล่า หรือว่าน้ำจะท่วม หรือว่าฝนจะแล้ง

ฝนเป็นองค์ประกอบหลักของวัฎจักรน้ำ ส่งผลต่อสังคมมนุษย์และธรรมชาติอย่างชัดเจน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลถึงปริมาณฝนด้วยหรือไม่ นักวิจัยรวบรวมข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในช่วงค.ศ. 1955 - 2014 จากสถานีตรวจวัดอากาศ 44 แห่งทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์ว่าเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน มาตรวจสอบและวิเคราะห์

นักวิจัยพบว่า ปรากฏการณ์ความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ อย่าง El Niño-Southern Oscillation หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ENSO เอ็นโซ่ ส่งผลถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะมหาสมุทรแปซิฟิกครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลก โดยปริมาณฝนของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงที่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากได้อีกในปีที่เกิด La Niña และดัชนีสมุทรศาสตร์บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (Pacific Decadal Oscillation Index, PDO) ที่อุณหภูมิน้ำทะเลเย็นลง ในขณะที่ ปริมาณฝนมีค่าลดลงจากค่าเฉลี่ยปกติและมีเหตุการณ์สภาพอากาศแปรปรวนลดน้อยลง ในปีที่เกิด El Niño และ PDO ที่อุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น

ในภาพรวมของประเทศไทย ปริมาณฝนสะสมรวมในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในอัตรา 10.8 มิลลิเมตรต่อทศวรรษ หรือ 64.8 มิลลิเมตรในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 1955 -2014 หรือ พ.ศ. 2498 - 2557) การเพิ่มขึ้นของปริมาณฝนสะสมรวมดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้

นอกจากนี้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปริมาณฝนสะสมรวมรายปีมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ปริมาณฝนสะสมรวมรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปริมาณฝนแตกต่างกันไปตามฤดูกาลและสถานที่ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ฝนตกไม่ถี่เท่าแต่ก่อน ตกต่อเนื่องน้อยลง ทั้งยังมักจะตกกระหน่ำหนักในวันเดียว แทนที่จะทยอยตกต่อเนื่องหลายวัน ปริมาณฝนที่มากมายมหาศาลทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงฉับพลันได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

ในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร จำนวนวันที่ฝนตกบ่อยขึ้นและมีเหตุการณ์ที่ฝนตกหนักมากเพิ่มขึ้นด้วย โดยจากการเจริญเติบตัวของเมืองที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวงจรน้ำในพื้นที่เมืองเนื่องจากลักษณะอุณหพลศาสตรของพลังงานในระบบและสิ่งแวดล้อมต่อวงจรน้ำในเมืองเปลี่ยนแปลงไป เช่น การพาความร้อนของสิ่งก่อสร้างในเมืองมากขึ้นและปรากฏการณ์โดมร้อนของเมืองที่อุณหภูมิอากาศบริเวณกลางเมืองร้อนกว่าอุณหภูมิรอบนอกเมือง ทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำในอากาศตกลงมาเป็นฝนมากขึ้น

แม้แต่มหาอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบหกสิบปีเมื่อปี 2011 ก็เกิดจากพายุฝนรุนแรงทางตอนเหนือและตอนกลางของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณฝนรวมมีมากกว่าค่าเฉลี่ยคาบ 20 ปี (ค.ศ. 1982-2002) ร้อยละ 143 ฝนตกหนักจนต้องระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ มหาอุทกภัยนี้ทำให้น้ำท่วมภาคกลาง เศรษฐกิจเสียหายจนประมาณไม่ได้ รายงานการวิจัยยืนยันว่า มหาอุทกภัยไม่ได้เกิดเพราะโลกร้อนเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นด้วย เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา และการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน เช่นการสร้างถนนและหมู่บ้านขวางทางน้ำ การถมคูคลอง และการตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น ข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านภูมิอากาศวิทยาจึงจำเป็นยิ่งสำหรับการตัดสินใจระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ ประชาชนควรได้รับข้อมูลความรู้ เพื่อให้เข้าใจสาเหตุและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศว่าฝนจะตกมากหรือน้อยเพียงใดในท้องถิ่นของตน เพื่อช่วยให้ป้องกันบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรไว้ได้ก่อนเกิดอุทกภัย

อ้างอิง : Limsakul, A., & Singhruck, P. (2016). Long-term trends and variability of total and extreme precipitation in Thailand. Atmospheric Research, 169, 301-317.

Photo by BBC.com

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank