แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

Tuesday, 01 January 2019 Read 658 times Written by 

syn9

 

ลดก๊าซเรือนกระจกได้ ด้วยไทยเราเอง

ศักยภาพและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

          ยิ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไหร่ โลกก็จะยิ่งร้อนมากขึ้นเท่านั้น ประโยคนี้กลายเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดในปัจจุบัน เพราะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของคนเรามีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต ดังนั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง จึงน่าจะเป็นวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ต้นเหตุได้มากที่สุด จากการศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลในรายงานต่าง ๆ ของประเทศไทย เราได้ข้อมูลทางเลือกจากแต่ละภาคกิจกรรม ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต ร่วมกับแนวทางตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พลังงานที่มั่นคง ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้

ภาคส่วนแรกที่สำคัญมากคือ ภาคพลังงาน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึงร้อยละ 73 แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนนี้จะมุ่งเน้นไปที่สาขาการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ ได้แก่ การกำหนดนโยบายของภาครัฐผ่านแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (ค..2015 - 2036) ที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านพลังงานมั่นคง จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบส่ง/จำหน่ายไฟฟ้า และการปรับใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น การผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานธรรมชาติ ซึ่งเราเรียกกันว่าเทคโนโลยีสะอาด (เช่นแสงแดด ลม และน้ำ) เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องพัฒนาร่วมกับอีก 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจมั่งคั่ง โดยมีโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมคุ้มค่า และด้านสังคมไทยยั่งยืน โดยการลดทั้งการผลิตและการใช้พลังงานไปด้วยกัน

การขนส่งต้องประหยัด ขจัดการใช้ฟุ่มเฟือย

การลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมขนส่งซึ่งสร้างปัญหารองจากภาคพลังงานนั้น จะเกี่ยวเนื่องกับจำนวนประชากรที่ใช้ยานพาหนะและการจัดการระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้นโยบายจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนายานยนต์ให้ใช้พลังงานราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน เช่น การใช้น้ำมันไบโอดีเซลแทนน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด เป็นต้น การเปลี่ยนโครงสร้างการขนส่งเป็นระบบสาธารณะ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ใช้ยานพาหนะ ให้คนทุกเพศทุกวัยตระหนักและมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับลูกหลานในอนาคตมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นในอาคาร/สำนักงาน/ที่อยู่อาศัย ใครๆ ก็ต้องลด

การใช้พลังงานไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นต่าง ๆ ซึ่งมีสาร F-gas ในอาคาร/สำนักงาน/ที่อยู่อาศัย เป็นอีกตัวการหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยประหยัดหรือลดการใช้พลังงานทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน รวมทั้งกำหนดกรอบกฎหมายสำหรับจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศโดยบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มลพิษกระจายสู่สิ่งแวดล้อม

ภาคอุตสาหกรรม ขอย้ำว่าต้องลดมากกว่านี้        

          อีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ต้องแลกกับการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมโลหะ ดังนั้น นโยบายของภาครัฐจึงต้องเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมและอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตที่สะอาด เช่น ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และการผลิตกรดไนตริก การรีไซเคิลแทนการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมพลาสติกก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้ เป็นต้น

พัฒนาเกษตร เพิ่มป่าไม้ และใช้ประโยชน์ที่ดิน

          การเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นภาคส่วนที่มีทั้งการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ ดังนั้น แนวทางการลดจึงจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพในการเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนที่สำคัญด้วย ได้แก่ การส่งเสริมให้ปศุสัตว์จัดการของเสียเป็นระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ การลดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) จากการใช้ปุ๋ยและการจัดการน้ำที่เหมาะสม รวมถึงลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยร่วมกับการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติไว้

ถิ่นฐานดี คนอยู่ดี สิ่งแวดล้อมก็ดีไปด้วย

          ภาคส่วนสุดท้ายนี้ดูจะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมเมืองมากขึ้นทุกวัน คนไทยย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองมากขึ้น จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและใช้เทคโนโลยีเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคและการจัดการของเสียที่เหมาะสม เช่น การนำขยะไปหมักเป็นปุ๋ยและผลิตไฟฟ้าแทนการฝังกลบ เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนผู้อาศัยเองที่จะต้องช่วยกันลดและคัดแยกขยะ เพื่อนำไปสู่การจัดการและใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

          จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนมีความสำคัญและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ เพียงร่วมกันทำหน้าที่และปรับใช้แนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง ผ่านจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ช่วยโลกให้เย็นลง

อ้างอิง : อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ และนันทมล ลิมป์พิทักษ์พงศ์, 2559: ศักยภาพและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย. ใน: รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2: องค์ความรู้ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก. คณะทำงานกลุ่มที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [อำนาจ ชิดไธสง, ปริเวท วรรณโกวิท, มัทนพรรณ จิ๋วเจียม, อัศมน ลิ่มสกุล, ศุภกร ชินวรรโณ และชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (บรรณาธิการ)]

Photo by Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization)

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank