รายละเอียดโครงการ

Monday, 13 January 2020 Read 15589 times Written by 

 

Q1 2020 1

โครงการพัฒนาดัชนีและเครื่องมือสำหรับประเมินความตระหนักของประชาชน

ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1. ที่มาและความสำคัญ

          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลาย ๆ ปัจจัยและปัจจุบันกลายเป็นข้อกังวลสำคัญที่ประชาคมโลกได้ร่วมมือกันเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง แม้ว่าข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และมีผลกระทบและความเสี่ยงที่รุนแรง แต่ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อข้อเท็จจริงของประเด็นนี้และการสนับสนุนด้านนโยบายจากประชาชน ยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน (Lee et al., 2015) การศึกษาในช่วงเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า ระดับความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความรู้ความเข้าใจ การรับรู้ถึงความเสี่ยงและการสนับสนุนต่อกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกและมีความผันแปรตามกาลเวลา (Capstick et al., 2015; Lee et al., 2015) บนพื้นฐานของข้อมูลจาก Gallup World Poll ที่ดำเนินการสำรวจใน 119 ประเทศระหว่างปี ค.. 2007-2008 Lee et al. (2015) พบว่า ความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรับรู้ถึงความเสี่ยง มีการกระจายตัวอย่างไม่สม่ำเสมอทั่วโลก ซึ่งระดับความตระหนักสูงสุด (มากกว่า 90%) ได้รับการรายงานในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงอเมริกาเหนือ ยุโรปและญี่ปุ่น ในทางตรงกันข้าม 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในแอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย ไม่เคยได้ยินเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก่อน ทั้งนี้ การรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุ ผลกระทบและนัยด้านต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขอบเขตที่กว้างขึ้น มีผลอย่างสูงต่อแนวทางการตอบสนองของบุคคล สังคมและการเมือง โดยการสนับสนุนจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาและดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงขึ้นอยู่กับระดับความตระหนักของประชาชน (Rahman et al., 2014; Capstick et al., 2015; Lee et al., 2015) ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจต่อการรับรู้และระดับความตระหนักของประชาชน เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของประเทศในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระตุ้นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของทุกภาคส่วนต่อปัญหาภาวะโลกร้อน

          ช่วงที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยด้านการรับรู้และความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป (Capstick et al., 2015; Lee et al., 2015) ผลการศึกษาเหล่านี้ ได้ช่วยสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นต่อความซับซ้อนของความเชื่อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรับรู้ถึงความเสี่ยง รวมถึงช่วยปรับปรุงองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของการตอบสนองของประชาชนต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ชัดเจนเช่นกัน การศึกษาที่ผ่านมา ได้ระบุว่าระดับความตระหนักและการตอบสนองในระดับบุคคลและระดับชุมชน ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งรวมถึงตัวแปร           ด้านประสบการณ์ กายภาพ สุขภาพจิต สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น ความตระหนักและการรับรู้ถึงความเสี่ยงของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับมิติ ทางสังคมที่มีความจำเพาะเจาะจงในแง่ของพื้นที่และวัฒนธรรม ซึ่งยากที่จะสรุปจากผลการศึกษาในบางพื้นที่หรือบางประเทศให้เห็นภาพรวมทั่วไปของโลกที่มีความหลากหลายสูงด้านภูมิประเทศ เศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้ (Lee et al., 2015)          ในขณะเดียวกัน การรับรู้และความตระหนักของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการศึกษาวิจัยน้อยมากในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีสาเหตุหลักเกิดจากกรอบแนวคิดการศึกษาของความตระหนักด้าน               การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมในประเทศกำลังพัฒนา ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาและล้าหลังกว่าประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงขาดเทคนิค เครื่องมืออย่างง่าย   ในการสำรวจข้อมูลและประมวลผลและวิธีประเมิน ที่เหมาะสม (Capstick et al., 2015; Lee et al., 2015)

          สำหรับประเทศไทย ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างแพร่หลายในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคเอกชน ได้สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงสาเหตุ ปัญหา ผลกระทบ รวมทั้งการแก้ไขและตั้งรับต่อปัญหาดังกล่าวให้แก่ประชาชนและชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้มาตรา 6 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปฏิบัติการเพื่อเสริมพลังด้านสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment; ACE) (อัศมน ลิ่มสกุล, 2560) อย่างไรก็ตาม การติดตามและประเมินถึงผลสัมฤทธิ์ของการสร้างความรู้ความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้กิจกรรมมาตรา 6 ของอนุสัญญาฯ ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากขาดวิธีการ เทคนิคและเครื่องมือสำหรับ         การประเมินที่เหมาะสมเช่นเดียวกันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม            ได้เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาดัชนีความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโปรแกรมการประมวลและการประเมินผลแบบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้กิจกรรมมาตรา 6 ของประเทศไทย อีกทั้ง            เป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งานและเหมาะสมกับหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ตรวจวัดระดับความตระหนักของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เชิงตัวเลข และประเมินเส้นบรรทัดฐานของระดับความรู้และการมีส่วนร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการอนุวัติมาตรา 6 ของประเทศไทยในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ภายใต้บริบทของ Doha work programme ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2563 และความตกลงปารีสหลังจากปี พ.. 2563

 

2. วัตถุประสงค์โครงการวิจัย

          2.1 เพื่อพัฒนาดัชนีความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          2.2 เพื่อพัฒนาระบบประมวลและประเมินผลระดับความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบกึ่งอัตโนมัติ

          2.3 เพื่อประเมินความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และเสริมสร้างศักยภาพการใช้งานโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น

 

3. ขอบเขตของโครงการวิจัย

3.1 ทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แนวคิดของ Partanen-Hertell และ EAPEB Model พร้อมทั้งการจัดทำกรอบและรายละเอียดการศึกษาวิจัย

3.2 ออกแบบและพัฒนาแบบสอบถาม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสำรวจและเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระดับความตระหนักและการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.3 พัฒนาโครงสร้าง/องค์ประกอบของดัชนีความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.4 พัฒนาวิธีการ/ระบบประมวลผลกึ่งอัตโนมัติสำหรับประเมินความตระหนักรู้ของประชาชนด้าน         การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.5 ประเมินระดับความตระหนักของประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ และทดลองใช้โปรแกรมประมวลผลในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย

3.6 เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวกับระดับความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างศักยภาพการใช้งานโปรแกรมที่พัฒนา

 

4. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

          4.1 แบบสอบถามสำหรับสำรวจและเก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระดับความตระหนักและการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          4.2 ดัชนีความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมของประเทศไทย

          4.3 วิธีการ/ ระบบประมวลและประเมินผลระดับความตระหนักของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบกึ่งอัตโนมัติที่เหมาะสมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

 

5. การนำไปใช้ประโยชน์ด้านสังคมและชุมชน

ผู้ใช้

การใช้ประโยชน์

- องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด/สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค

- สถาบันการศึกษา

- ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

- นำไปใช้ประเมินระดับความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชน เพื่อนำที่ได้ไปวางแผนแก้ไขปัญหาหรือดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

- ได้ฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้มาตรา 6 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปฏิบัติการเพื่อเสริมพลังด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

 

 

6. แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผลการวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมาย

         6.1 จัดอบรม/สัมมนาให้กับหน่วยงานเครือข่ายของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานตามมาตรา 6 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาครวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น NGOs สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป

         6.2 เผยแพร่ผลการวิจัยและข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซด์

         6.3 เผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปของการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับชาติ/ นานาชาติ

         6.4 เผยแพร่งานวิจัยในรูปของการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมสัมมนาทางวิชาการ

        6.5 นำผลการวิจัยไปใช้ประกอบการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยต่อยอดด้านการรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้นคว้าวิจัยในระดับสูงขึ้นต่อไป

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank