เปิดพื้นที่แก้มลิง 1 ล้านไร่ รับน้ำเหนือ ชะลอน้ำหลาก

Thursday, 16 February 2012 Read 989 times Written by 

16_02_2012_3

เปิดพื้นที่แก้มลิงชะลอน้ำหลากบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1 ล้านไร่ นครสวรรค์ - พิจิตร - พิษณุโลก - อยุธยา - สระบุรี - อ่างทอง ยังขาดอีกเป็นล้านไร่ ‘ กยน.’ เผยพื้นที่น้ำนองช่วยปรับวิถีชีวิตคนไทยอยู่ร่วมกับน้ำ สร้างอาชีพใหม่ - ให้ผลประโยชน์ชดเชยรวดเร็ว-ตามจริง ‘ปทุมธานี-นนทบุรี’อยู่ปลายน้ำ รอดเป็นเขตพื้นที่น้ำนอง “ปราโมทย์” ฉะรัฐพูดแต่แผนงาน ไม่มีโครงการสำรวจศึกษา สร้างงานจริง

ระหว่างที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พาคณะทำงานไปเดินสายทัวร์นกขมิ้นเหลืองอ่อนนานถึง 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 13 -17ก.พ. เพื่อลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ สำนักข่าวทางเมืองหลวงก็กระทุ้งข่าวความคืบหน้าของแผนการชดเชยให้กับชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่ทุกวัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวรัฐบาลประกาศว่าเป็นพื้นที่ที่จะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงช่วยหน่วงชะลอน้ำไม่ให้ไหลมาท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจมากเท่าปีที่ผ่านมา เสริมกับวิธีการบริหารจัดการน้ำอื่นๆ ที่จะช่วยให้มวลน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็วและถูกที่ถูกทาง


โดยก่อนหน้านี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงแผนการจัดหาพื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่ แต่ยืนยันว่าจะไม่เปิดเผยพื้นที่รับน้ำล่วงหน้า เพราะเกรงจะมีประชาชนคัดค้าน ขอเข้าไปเจรจาทำความเข้าใจกับมวลชนในพื้นที่เลย แต่ยิ่งปิดก็ยิ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอยากรู้ข้อมูล จึงเริ่มมีข่าวเปิดพื้นที่รับน้ำ 13 พื้นที่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง ซึ่งครอบคลุม จ.นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และอ่างทอง นอกจากนั้นยังเปิดเผยเงินชดเชยเบื้องต้นจำนวนไร่ละ 5,000-7,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่คนในพื้นที่ร้องขอคือ การประเมินและชดเชยต้องเป็นการประเมินตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และต้องจ่ายเงินทันทีหลังน้ำลด


อย่างไรก็ดี 13 พื้นที่แก้มลิงที่มีกระแสข่าวออกมานั้นยังเป็นแค่ 1 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้ประมาณ 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังไม่ได้มีการเจรจากับชาวบ้านครบทุกพื้นที่ จึงต้องดูกันต่อไปว่าพื้นที่แบบใดบ้างจะมีสิทธิ์เป็นพื้นที่แก้มลิง ช่วยชะลอน้ำหลากได้บ้าง


เปิดพื้นที่แก้มลิง ชะลอน้ำหลาก


ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ระบุว่า โครงการจัดหาพื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่ เป็นการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นพื้นที่ต่ำมีน้ำท่วมทุกปี ซึ่งตามปกติจะมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ประมาณ 2-4 ล้านไร่อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปีที่มีน้ำมากเช่นปีที่แล้ว จะมีพื้นที่น้ำท่วมตามธรรมชาติมากถึง 20 ล้านไร่ ซึ่งจะทำเป็นพื้นที่แก้มลิงทั้งหมดคงไม่ได้ จึงเริ่มมีการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่บางส่วนเพื่อทำให้หน่วงน้ำได้ดีขึ้น

“ที่ผ่านมาพื้นที่เหล่านี้จะมีน้ำท่วมเข้าไปตามธรรมชาติ ไม่สามารถกำหนดการไหลเข้าไหลออกได้ แต่การทำเป็นแก้มลิงที่มีประสิทธิภาพ คือ เราสามารถบริหารจัดการน้ำได้ชัดเจน อาจจะชะลอน้ำที่หลากมาให้ออกไปช้า เพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น ในช่วงที่น้ำหลาก อาจจะเลี้ยงปลาแทนการปลูกข้าว เป็นต้น”


การจัดการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการที่จะต้องเข้าไปเจรจากับคนในพื้นที่ ถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาว่าควรจะเป็นเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากการจ่ายชดเชย ยังต้องมีมาตรการส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและลักษณะของน้ำ เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำ


นำร่องแนวคิด ปรับชีวิตอยู่กับน้ำ


ดร.อานนท์ บอกอีกว่า การกำหนดพื้นที่แก้มลิงจะช่วยให้การบริหารจัดการสามารถคาดการณ์ได้ง่าย เพราะรู้ว่าน้ำจะท่วมนานเท่าไร ซึ่งปีนี้จะเริ่มทำเป็นต้นแบบ โดยใช้พื้นที่ทุ่งประมาณ 2 ล้านไร่ แต่จะเป็นพื้นที่ใดบ้างต้องมีการเข้าไปพูดคุยกับในพื้นที่ก่อน


“การหาพื้นที่ 2 ล้านไร่จะต้องทำให้รัดกุม หลักการของนักวิชาการจะเลือกพื้นที่ที่ต่ำที่สุด ท่วมนานที่สุด หรือใกล้แม่น้ำ แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวอาจจะไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่ การเลือกพื้นที่ใดจะต้องถามความเห็นชอบร่วมกันจากคนในพื้นที่ก่อน ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่จะทำ 2 ล้านไร่ อาจไม่ใช่พื้นที่ในจุดเดียวกัน แต่เป็นพื้นที่เล็กพื้นที่น้อย แห่งละ 200 ไร่ 500 ไร่ 1,000 ไร่ กระจายกันไปตามจุดต่างๆ ซึ่งอาจจะหาได้มากกว่า 2 ล้านไร่ หากคนในพื้นที่เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี สามารถทำให้เขาใช้ประโยชน์จากที่ดินและน้ำที่มาได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ การเลี้ยงปลาทำรายได้ได้ดีกว่าปลูกข้าวเยอะเลย”


แนวคิดของ กยน.เชื่อว่า การจัดการพื้นที่น้ำนองจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ที่สอดคล้องกับน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมด้านอื่นๆ โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาดูแล เช่น การตลาด การประมง การเกษตร การพัฒนาชุมชน วิศวกรรม หรือแม้แต่สาธารณสุข เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่าผลประโยชน์ที่เสียไป ขณะที่วิธีการจ่ายชดเชยจะจ่ายตามสภาพและเงื่อนไขของพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยจะไม่ตั้งตัวเลขแบบสุ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


สำหรับพื้นที่รับน้ำที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้คร่าวๆ แล้วมีทั้งหมด13 พื้นที่ อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง โดยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ประกอบด้วย 1.บึงบอระเพ็ด 500 ตารางกิโลเมตร 2.ชุมแสง-เก้าเลี้ยว - อ.เมืองนครสวรรค์ 200 ตารางกิโลเมตร 3.ตะพานหิน-บางมูลนาค-โพทะเล 400 ตารางกิโลเมตร 4.อ.เมืองพิจิตร-อ.โพธิ์ประทับช้าง 350 ตารางกิโลเมตร และ 5.อ.บางกระทุ่ม 350 ตารางกิโลเมตร ส่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย 1.อ.บางบาล(1) 500 ตารางกิโลเมตร 2.ป่าโมก-ผักไห่ 69 ตารางกิโลเมตร 3.ผักไห่-บางยี่หน 350 ตารางกิโลเมตร 4.บางบาล(2) 160 ตารางกิโลเมตร 5.ดอนพุด-มหาราช 200 ตารางกิโลเมตร 6.ภูเขาทอง-บางปะหัน 160 ตารางกิโลเมตร 7.ไชโย-บ้านแพรก 200 ตารางกิโลเมตร และ8.อ่างทองตะวันตก 100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 1 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 2 ล้านไร่


ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน ไม่มีการสำรวจเพื่อทำพื้นที่แก้มลิงแต่อย่างใด แต่จังหวัดปริมณฑลบางพื้นที่ที่มีที่ว่างก็มีศักยภาพที่จะทำพื้นที่แก้มลิงได้ในอนาคต หากคนเห็นประโยชน์ของโครงการ


อย่างไรก็ดี การจัดหาพื้นที่น้ำนองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะเน้นเพิ่มการเก็บกักในอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ โดยเร่งระบายน้ำเพื่อให้มีที่ว่างเหลือสำหรับปลายปีมากขึ้น ขณะที่กลางน้ำจะชะลอน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิง ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่ง และกระจายน้ำออกไปตามลำน้ำสาขา รวมถึงเร่งระบายน้ำโดยลำน้ำสายหลักที่อยู่ในแนวเหนือใต้ นอกจากนั้นยังมีการป้องกันพื้นที่สำคัญ เช่น พื้นที่เมือง ในลักษณะของการปิดล้อม หรือระบายน้ำตามสภาพพื้นที่


ส่วนพื้นที่ปลายน้ำคือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะยึดหลักปกป้องพื้นที่สำคัญคือพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อยู่อาศัย รวมไปถึงแหล่งที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะขยายออกไปเป็นพื้นที่ปิดล้อม และเร่งระบายน้ำโดยคลองและแม่น้ำ ซึ่งปีนี้จะยังใช้ลักษณะการระบายน้ำตามธรรมชาติ แต่กั้นแนวทางน้ำหลากให้มีผลกระทบน้อยที่สุดและเร็วที่สุด


ทั้งนี้ ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า การสร้างทางระบายน้ำหลาก หรือFlood way ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ต้องใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ ปีนี้จึงใช้แนวทางระบายน้ำตามธรรมชาติ และประคับประคองไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบไปก่อน


จี้รัฐสานแผน กยน. ให้เป็นรูปธรรม


ด้าน ปราโมทย์ ไม้กลัด ในฐานะกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) กล่าวว่า คำถามยอดฮิตที่ได้รับในช่วงนี้คือน้ำจะท่วมเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ ซึ่งไม่สามารถตอบได้ขณะนี้ เพราะต้องดูปัจจัยหลักคือลมฟ้าอากาศในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ต้องจับตาดูว่าสถานการณ์น้ำเป็นอย่างไร ดังนั้นระหว่างรอการสร้างทางระบายน้ำหลาก หรือFlood way ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี คนไทยจะต้องเรียนรู้การอยู่กับน้ำอย่างมีความสุข อย่าปริวิตก ติดตามข่าวสารข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมรับน้ำที่อาจจะมาอีก


“ยุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้ชาวบ้านอยู่กับปัญหาอุทกภัยได้ คือทำให้เขาอยู่ร่วมกับน้ำได้ โดยจัดการเรื่องบ้านเรือนให้เขาสามารถอยู่ได้ก่อน แล้วให้องค์ความรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับน้ำ ประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับภูมิอากาศโดยรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นโครงการที่มีการศึกษา ไม่ใช่แค่แผนงานที่พูดกันลอยๆ”


ปราโมทย์ บอกอีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงในฐานะกรรมการ กยน.คือการขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่มีแต่แผนงานซึ่งเป็นนามธรรมแบบนี้ ซึ่งแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ การจะทำแผนงานให้เป็นรูปธรรมต้องทำโครงการสร้างงานต่างๆ ต้องผ่านการศึกษา สำรวจ ออกแบบ โครงการจะบอกจุดหมายปลายทางว่าจะต้องมีการก่อสร้างอะไร หรือต้องดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งจะช่วยทำให้ยุทธศาสตร์ต่างๆ เป็นรูปธรรมขึ้นมา ปัจจุบันยังไม่เห็นมีโครงการอะไรเกิดขึ้นดังที่มีการกล่าวไว้


ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำขณะนี้ ปราโมทย์เผยว่ายังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตามแผนที่กำหนด คือพร่องน้ำวันละ 110-112 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เขื่อนมีปริมาตรช่องว่างที่จะรับน้ำในหน้าฝนไม่น้อยกว่า 12,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนฝนที่ตกในช่วงนี้เป็นเพียงฝนหน้าแล้งที่ตกตามปกติเท่านั้น


ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th
​ 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank