ชุมชนชายฝั่งตั้งรับ ปรับตัวสู้โลกร้อน

Monday, 10 March 2014 Read 23904 times Written by 

ชุมชนชายฝั่งตั้งรับ ปรับตัวสู้โลกร้อน

10 03 2014 6

บ้านคลองประสงค์ จ.กระบี่ ชุมชนที่ตั้งขนานยาวตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน มีลมมรสุมพัดผ่านตลอดทั้งปี หลายปีมานี้เผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง นอกจากสภาพพื้นที่เป็นเกาะที่เปิดรับกระแสคลื่นลมรุนแรงในช่วงฤดูมรสุม ยังมีระดับน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้นมากกว่าปกติจนเกิดคลื่นขนาดใหญ่ถาโถมสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนเครื่องมือประมงมาตลอด
    การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเร่งให้ปัญหากัดเซาะรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งความถี่และความรุนแรงของลมพายุที่เกิดตามฤดูกาลและนอกฤดูกาลก็เกิดมากขึ้น สุดท้ายต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่อื่น หากไม่สามารถหยุดยั้งการกัดเซาะได้
    แต่เมื่อที่นี่คือถิ่นฐานบ้านเกิดในการหาอยู่หากิน ชาวบ้านคลองประสงค์จึงตั้งรับปรับตัวและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ "โลกร้อน" ที่คนคลองประสงค์สัมผัสได้ถึงความแปรปรวนที่เข้ามาถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น จนอยู่เฉยไม่ได้ มีการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นและดักตะกอน ลงมือปลูกป่าชายเลน และทำข้อตกลงร่วมกันของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร นี่คือการแก้ปัญหาด้วยมือคนในชุมชน
    บ้านคลองประสงค์เป็นหนึ่งในชุมชนชายฝั่งนำร่องในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศเพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันภัยพิบัติและโลกร้อน แตกต่างจากการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของภาครัฐที่เป็นโครงสร้างแข็ง ทั้งสร้างเขื่อนคอนกรีต ทำเขื่อนหินทิ้ง ที่สร้างปัญหากัดเซาะพื้นที่อื่นตามมา โดยประสบการณ์การทำงานชุมชนบ้านคลองประสงค์ฉายภาพเป็นตัวอย่างในเวทีเสวนา : การสร้างกระแสหลักในการกำหนดนโยบายสนับสนุนชุมชนชายฝั่งตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นแกนหลัก เพื่อเชื่อมร้อยงานระดับนโยบายกับกรณีศึกษาระดับชุมชนชายฝั่ง ผลักดันเป็นกระแสหลักในการกำหนดนโยบายการพัฒนา
    คณิต สุขแดง ชาวคลองประสงค์หมู่ที่ 2 จ.กระบี่ คณะทำงานการจัดการภัยพิบัติของชุมชน เผยสถานการณ์ขณะนี้ว่า เดิมบ้านอยู่ติดชายฝั่ง แต่น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นๆ ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ก็ขยับบ้านเข้ามาบนฝั่ง 5 ครั้งแล้ว จนถอยไม่ได้แล้ว คนในหมู่บ้านก็เจอปัญหาเดียวกัน จากนั้นก็มาสร้างเขื่อนคอนกรีต สุดท้ายก็ต้องมาเพิ่มความสูงของเขื่อน เพราะระดับน้ำก็สูงขึ้น จึงเข้าใจว่าแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่ เมื่อวันที่ 24 กันยายน โดนพายุหมุนบ้านตนพังไปครึ่งหลัง แต่ชุมชนต้องฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณหน้าหาด ก็ทำโครงการร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย เริ่มจากศึกษาตัวอย่างจากพื้นที่บ้านโคกขาม จ.สมุทรสาคร เรียนรู้การทำเขื่อนไม้ไผ่ชะลอคลื่น และมาปรับใช้กับพื้นที่บ้านคลองประสงค์   
    "เราทำเขื่อนไม้ไผ่ชะลอความแรงของคลื่น ปัก 2 ชั้น 1 ปีผ่าน พบว่า หลังแนวไม้ไผ่มีการตกตะกอนดินเลนเพิ่มขึ้น แล้วก็ปลูกป่าชายเลน ตอนนี้กล้าไม้ โดยเฉพาะไม้แสมเติบโตและรอดกว่า 80% การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนช่วยลดกระทบจากพายุและคลื่นรมแรงได้ตะกอนเพิ่ม สัตว์น้ำในดิน อย่างหอยมีมากขึ้น ก็เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ ไม่เสียค่าซ่อมบ้านที่เสียหายจากคลื่นลม ตอนนี้เพิ่มความแข็งแรงของเขื่อนเป็น 3 ชั้น สลับฟันปลา ตั้งใจทำตลอดชายหาดคลองประสงค์" ป้าคณิตยืนยันเขื่อนไม้ไผ่ไม่ใช่เกราะกำบังที่ดี แต่ต้นไม้ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น คือเป้าหมายของชุมชน
    โสภา เกาะกลาง ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ตลองประสงค์ กล่าวว่า นอกจากประมงชายฝั่งที่ต้องออกไปวางอวนไกลขึ้น หากปลาได้น้อยลง ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำนาก็ได้รับผลกระทบจากปัญหากัดเซาะ นาข้าวที่ติดชายทะเลของชุมชนต้องเลิกทำเกษตร ขณะที่ชุมชนเกาะกลางยังทำนาข้าวสังข์หยดได้อยู่ ปลูกปีละครั้ง แต่ฝนฟ้าที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลผลจากภาวะโลกร้อน  เดิมจะปักดำวันแม่และเกี่ยวข้าววันพ่อ ปีนี้ฝนมาช้า มันผิดเพี้ยนแปรปรวนไปหมด แต่ก็ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ตั้งสหกรณ์และโรงสีข้าวชุมชน ชุมชนพยายามรักษาธรรมชาติในท้องถิ่น   
    ชุมชนไม่ได้ตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรวดเร็วเเพียงลำพัง แต่มั่นใจในการทำงานเมื่อได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลคลองประสงค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ มาต่อยอดกิจกรรมสร้างเขื่อนไม้ไผ่ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง เพิ่มความแข็งแรงต้านทานคลื่นดียิ่งขึ้น เพิ่มความยาวเป็นระยะ 500 เมตร และมี Mangrove Action Project แนะนำเชิงวิชาการการเลือกพันธุ์ต้นไม้ป่าชายเลนที่เหมาะกับพื้นที่ และอบรมแกนนำติดตามผลอัตรารอดต้นไม้หลังปลูกทดแทน    
    แกนนำชุมชนเผยก้าวต่อไปด้วยว่า ตอนนี้ อบจ.สนับสนุนงบปักแนวไม้ไผ่ให้มีความยาวเพิ่ม และบรรจุเข้าสู่แผนงบประมาณปีหน้า นอกจากนี้ ยังช่วยประสานกิจกรรมปลูกป่าชายเลนหลังแนวไม้ไผ่แก่หน่วยงานและชมรมต่างๆ ในกระบี่ ในลักษณะทำ CSR โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมติดตามผล ไม่ใช่ผลาญงบผ่าน CSR ส่วน อบต.ก็ประสาน ทส.จังหวัดกระบี่เพื่อพัฒนาโครงการแก้ปัญหากัดเซาะของชุมชนเข้าสู่แผนปีงบประมาณ 57 ก็ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ
    ชุมชนชายฝั่งนำร่องอีกแห่งที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บ้านท่าซัก นครศรีธรรมราช ประยุทธิ์ แซ่ลิ่ม แกนนำชุมชนหมู่ที่ 6 ต.ท่าซัก อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช เผยว่า ชาวบ้านชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศประจำ ทั้งน้ำทะเลหนุนสูง บ้านเรือนของสมาชิกในชุมชนต้อยถอยร่นขึ้นตลิ่ง หรือยกบ้านใต้ถุนสูงขึ้น จากการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น ส่วนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งก็ลดน้อยลง
    "ชายฝั่งกัดเซาะบ้านพัง มีคลื่นลมมรสุมนอกฤดูกาลเพิ่มขึ้น เราประกอบอาชีพยากลำบาก หนีไปไหนไม่ได้ เพราะเป็นถิ่นฐานอาศัยแต่บรรพบุรุษ เรารับมือด้วยการทำแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นเป็นระยะทาง 300 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน มีแนวคิดจะขยายให้คลุมพื้นที่ 40 ไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนและพันธุ์สัตว์น้ำ ก็พร้อมประสานกับภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะวิถีชีวิตเราต้องพึ่งพาทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ป่าชายเลนที่ฟื้นคืนกลับมาเป็นกำแพงธรรมชาติได้อย่างดี"  แกนนำชุมชนชายฝั่งเมืองคอนเน้นย้ำ
    ส่วน เชาว์ อินขามป้อม ประธานกลุ่มเกษตรกรทำประมงพื้นบ้าน ม.6 ต.ท่าซัก ยืนยันว่า โลกร้อนกระทบกับอาชีพ เวลาฝนตกก็ตกหนักและนาน พอแล้งก็แล้งรุนแรง แล้วยังต้องเผชิญพายุและคลื่นพายุซัดฝั่ง นอกจากคนปรับตัวไม่ทัน สัตว์น้ำก็เหมือนกัน ส่งผลให้การเติบโตช้าลง สัตว์น้ำบางชนิดสูญพันธุ์ กระทบโดยตรงกับวิถีประมงชายฝั่ง แต่ชาวบ้านต้องอยู่ให้ได้ ปรับตัว ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือทางรอด แล้วก็เห็นด้วยให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการตั้งรับปรับตัวของชุมชน มีกฎหมายที่เอื้อกับการทำงานในพื้นที่เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบ
    เวทีนี้ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน มูลนิธิรักษ์ไทย และองค์กรเครือข่าย เสนอทางเลือกเชิงนโยบายสนับสนุนชุมชนชายฝั่งตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับสถาบัน มีกลไกการบริหารแบบพหุภาคี มีกฎหมาย ระเบียบและแบบแผนที่เอื้อต่อการจัดการเชิงพื้นที่ มีกลไกเสริมสร้างศักยภาพ และความตระหนักรู้ในทุกระดับ อีกข้อเสนอ มีการจัดทำฐานข้อมูลที่ชุมชนเข้าถึงและพึ่งพาได้เพื่อเกิดกลไกการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ  จัดตั้งกองทุนเป็นกลไกหนุนเสริมทางการเงินให้ชุมชนสามารถปฏิบัติการได้ทันที รวมถึงสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านกลไกด้านการคลังเพื่อให้เกิดการลงทุนช่วยลดผลกระทบของโลกร้อน
    แน่นอนว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนสามารถตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกเป็นเรื่องสำคัญ แต่ชุมชนเข้มแข็งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ยังต้องมองกว้างไกลความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยอื่นๆ ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ กล่าวฝากถึงชุมชนชายฝั่งในเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า ชุมชนชายฝั่งที่เป็นกรณีศึกษาให้กับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศนั้นเดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว จะอยู่รอดและปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบันได้ เพราะเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่กิจกรรมที่ทำอยู่เพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตหรือไม่ คือ โจทย์
    "ในพื้นที่ภาคใต้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมากที่จะเกิดขึ้น การออกแบบใช้ข้อมูลอดีตและปัจจุบันเป็นตัวตั้ง ไม่รู้จะเกิดผลเสียหรือไม่ในอนาคต หากเป็นชุมชนที่มีภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่ จะทำให้การขับเคลื่อนงานตั้งรับปรับตัวซับซ้อนกว่า จำเป็นต้องกว้างไกลไปอนาคต  หากมีรากฐานที่ดีต้องต่อยอด ต้องขยายชุมชนนำร่องจากสิบเป็นร้อยเป็นพัน รวมถึงครอบคลุมชุมชนนอกชายฝั่ง สร้างการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายที่มีอยู่" ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฝากถึงภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ให้ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต หากวิเคราะห์แล้วไม่ส่งผลดีต้องทบทวน
    ในท้าย กิ่งกร นรินทรางกูร ณ อยุธยา เครือข่ายโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า รัฐต้องคิดแผนพัฒนาประเทศที่มีตัวชี้วัดเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับแผนงานที่สร้างเสริมศักยภาพในการตั้งรับและปรับตัวของชุมชนชายฝั่ง ไม่ใช่จัดทำแผนบั่นทอนพลังชุมชน นอกจากนี้ พบว่าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐตามชายฝั่งเพิ่มความเสี่ยงของชุมชนต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างขีดความสามารถของคน จริงแล้วชุมชนปรับตัวมาตลอด เราต้องรักษาภูมิคุ้มกันของชุมชนเดิมไว้ด้วย.

http://www.thaipost.net/sunday/031113/81542

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank